ประพันธ์โดย พระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

เรื่อง กฤษณาสอนน้อง เป็นวรรณกรรมมุขปาฐะ มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่เคยมีผู้ใดทำการวิเคราะห์ที่มาของวรรณกรรมเรื่องนี้ จนกระทั่งมีการแต่งเป็นหนังสือในรัชกาลที่ 3 และกลายเป็นวรรณคดี คำฉันท์ที่สำคัญเล่มหนึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นคนแรกที่ทรงวิจารณ์ที่มาของเรื่องนี้อย่างถูกต้องและสรุปได้ในที่สุด ว่านำมาจากเรื่อง มหาภารตะ ของอินเดีย เรื่องเดิมเป็นรูปแบบคำสนทนาระหว่างหญิงสองคนที่เป็นเพื่อนกัน

เรื่อง กฤษณาสอนน้อง เป็นวรรณกรรมประเภทคำฉันท์ เชื่อได้แน่นอนว่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ต้นฉบับเดิมหายสูญไป ระยะเวลาที่แต่งจะเป็นสมัยอยุธยาตอนต้น หรืออยุธยาตอนปลาย เป็นเรื่องยากที่จะชี้ชัดลงไปได้ ทั้งนี้ด้วยเหตุผลสองประการ คือ

ประการที่หนึ่ง ไม่มีต้นฉบับตัวเขียนสมัยอยุธยาหลงเหลืออยู่เลย

ประการที่สอง เรื่องกฤษณาสอนน้องคำฉันท์นี้มีตกทอดมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในรูปแบบของ วรรณกรรมมุขปาฐะ คือท่องจำและถ่ายทอดกันมาด้วยการเล่าปากเปล่า ไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เรื่องที่ท่องจำกันมาจึงผิดเพี้ยนกันไป และหายตกหล่นไปมากต่อมาก จะเอาเนื้อหาสาระที่บริบูรณ์เป็นแก่นสารก็ไม่ได้ ประกอบทั้งภาษาสำนวนที่แต่งก็ไม่ได้อยู่ในขั้นดี กล่าวง่าย ๆ คือ เป็นสำนวนบ้านนอก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรด ทรงพระราชดำริว่าเนื้อเรื่องดี แต่ภาษาไม่ดีพอ น่าจะแต่งใหม่ให้ดีกว่านั้น จึงทรงอาราธนาให้ กวีแก้วแห่งรัตนโกสินทร์ คือ กรมหมื่นนุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัตติยวงศ์ ทรงแต่งใหม่ทั้งหมด แต่รักษารูปแบบคำประพันธ์คือคำฉันท์ไว้ตามเดิม

“…พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง
โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี
นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา
ความดีก็ปรากฏ กิติยศลือชา
ความชั่วก็นินทา ทุรยศยินขจร...”


"...อย่าซอนซอนสรวลเสียงสำเนียงดัง
อย่าระเริงกิริยาเป็นน่าชัง
ถ้ายามพลั้งชนจะชวนสำรวลพลัน
อย่าด่วนดำเนินไคลครรไลแล่น
กรกรีดแหวนแกว่งหัตถาหกหัน
อย่ามุ่งเมิดเดินบาทจะพลาดพลัน
อย่าทัดพันธุ์มาลาเมื่อคลาไคล
อย่าเสยเกศยุรยาตรเมื่อนาถย่าง
จีบพกหกลางขายสำเนียงส่งเสียงได้
สะกิดเพื่อนเยื้อนสรวลสำรวลใน
อย่าทรงสะไบพลางเดินดำเนินลี
อย่ายอหัตถ์ผัดลบกำโบละ
ประทินประนางย่างทางวิถี
อย่านุ่งกรายภูษาเดินจรลี
จะเสื่อมศรีศักดิ์ยุพาไม่ถาวร
อนึ่งอย่าทรงสะไบครองทั้งสองบ่า
เปลือกพระกายินทรีศรีสมร
ถ้าชายสบก็จะสรวลสำรวลอร
เป็นเครื่องร้อนสำรวมหทัยไม่ธำรง..."

ที่มา : http://th.wikisource.org/, http://www.praphansarn.com