กาลามสูตร

4/1/51 |

(กาลามสูตร เรียกอีกอย่างว่า เกสปุตติยสูตร หรือ เกสปุตตสูตร)
สูตรหนึ่งในคัมภีร์ติกนิบาต อังคุตตรนิกาย พระพุทธเจ้าตรัสสอนชนชาวกาลามะ แห่งเกสปุตตนิคม ในแคว้นโกมล ไม่ให้เชื่องมงายไร้เหตุผล ตามหลัก ๑๐ ข้อ คือ
๑. มา อนุสสะเวนะ
อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังบอกตามๆ กันมา
๒. มา ปรัมปรายะ
อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบๆ กันมาอย่างปรัมปรา
๓. มา อิติกิรายะ
อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ
๔. มา ปิฎกสัมปะทาเนนะ
อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์ คำว่า ปิฎก ในที่นี้ก็คือ สิ่งที่เรา เรียกว่าตำรา สำหรับพระพุทธศาสนา ก็คือ บันทึกคำสอนที่เขียนไว้ในใบลาน เอามารวมกันไว้เป็นชุดๆ เรียก ไตรปิฎก
๕. มา ตักกะเหตุ
อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยตรรก ด้วยการใคร่ครวญตามวิธีที่เรียกว่า ตรรกะ เพราะว่าตรรกะก็ยังผิดได้ ในเมื่อเหตุผลหรือวิธีใช้เหตุผลมันผิดอยู่
๖. มา นะยะเหตุ
อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอนุมาน ด้วยเหตุผลว่าสมเหตุสมผลทางนัยยะ
๗. มา อาการะปะริวิตักเกนะ
อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล ด้วยการตรึกตามอาการ คือ ตามความคุ้นเคย ด้วกยการคิดตามสบายใจ ที่เรียกกันสมัยนี้ ว่า common sense
๘. มา ทิฏฐินิชฌานักขันติยา
อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน อย่าได้รับเอาเพราะว่าสิ่งนั้น ทนได้ต่อการเพ่งด้วยทิฏฐิของตน ตัวเองมีทิฏฐิอย่างไร ถ้าเขามาสอนด้วย คำสอนชนิดที่เข้ากันได้กับทิฏฐิของตัวเอง ก็อย่าเพิ่งถือเอา เพราะว่าทิฏฐิของตัวเอง ก็ผิดได้
๙. มา ภัพพะรูปะตายะ
อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าเชื่อ เพราะเหตุว่าผู้พูดมีลักษณะ น่าเชื่อถือ มีคำพูด มีลักษณะท่าทางที่น่าเชื่อ
๑๐. มา สัมโณ โน คะรูติ
อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา

ต่อเมื่อใด พิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นอกุศล เป็นกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ เป็นต้นแล้ว จึงควรละหรือถือปฏิบัติตามนั้น
คำสอนทั้ง ๑๐ ข้อนี้ เรียกว่าเป็นเสรีภาพในการรับถือธรรมะ มาเป็นที่พึ่งของตน

[รวบรวมมาจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับ ประมวลศัพท์ โดย พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต)
และ พระบาลีกาลามสูตร (คัดและย่อมาจากหนังสือการขุดเพชรในพระไตรปิฎก
โดย พุทธทาส อินทปัญโญ)
จากปกหลังหนังสือ พระศาสนา ๓ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา มหาราชา]

ที่มา : http://www.geocities.com/easydharma/