พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ (จาก The Merchant of Venice ของ วิลเลียม เช็คสเปียร์)
"...อันว่าความกรุณาปราณี จะมีใครบังคับก็หาไม่
หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน
เป็นสิ่งดีสองชั้นพลันปลื้มใจ แห่งผู้ให้และผู้รับสมถวิล

เป็นกำลังเลิศพลังอื่นทั้งสิ้น เจ้าแผ่นดินผู้ทรงพระกรุณา
ประดุจทรงวราภรณ์สุนทรสวัสดิ์ เรืองจรัสยิ่งมกุฏสุดสง่า

พระแสงทรงดำรงซึ่งอาชญา เหนือประชาพสกนิกร
ประดับพระวรเดชวิเศษฤทธิ์ ที่สถิตอานุภาพสโมสร

แต่การุณยธรรมสุนทร งามงอนกว่าพระแสงอันแรงฤทธิ์
เสถียรในหฤทัยพระราชา เป็นคุณของเทวาผู้มหิทธ์

และราชาเทียมเทพอมฤต ยามบพิตรเผยแผ่พระกรุณา..."

เรื่องราวของพ่อค้า น้ำมิตร และความรักแห่งเมืองเวนิส

เหตุการณ์ในบทอาขยานที่ได้รับการอัญเชิญมานี้
จับความในตอนที่ ยิว ซึ่งหมายถึงไชล็อก พ่อค้าเงินกู้แห่งเมืองเวนิส ได้ให้บัสสานิโยกู้เงินจำนวน 3 พันเหรียญโดยไม่คิดดอกเบี้ย แต่ให้ทำสัญญากัน โดยมีพยานรู้เห็นว่าหากไม่สามารถชำระเงินกู้ได้ตามเงื่อนไข จะขอเชือดเนื้อหนัก 1 ปอนด์จากส่วนใดของร่างกายก็ได้ของอันโตนิโย เพื่อนรักของบัสสานิโยผู้เป็นคู่แค้นของตน เป็นการชำระหนี้แทน ไชล็อกมีเจตนาร้ายต่ออันโตนิโยมาแต่ต้น และสัญญาแบบนี้ในเมืองเวนิสยุคนั้นสามารถทำได้ ดังนั้นเมื่อบัสสานิโยไม่สามารถชำระหนี้ได้ ยิวคนดังจึงขอบังคับคดีต่อศาล เพื่อเชือดเนื้อหนัก 1 ปอนด์ตรงหัวใจของอันโตนิโย แม้ทั้งศาล ทั้งเจ้าเมือง และใครต่อใครจะร้องขอ ไชล็อกก็หาได้ยินยอมไม่ ซ้ำยังสาปแช่งว่า หากเจ้าเมืองไม่ตัดสินคดีความให้เที่ยงตรง ขอให้เมืองเวนิสพบภัยพิบัติ ปอร์เชีย นางเอกของเรื่อง ปลอมตัวเป็นเนติบัณฑิตเข้ามาในศาล เพื่อทำหน้าที่แทนเบลลาริโย นางได้ซักถามไชล็อกกับอันโตนิโยเกี่ยวกับสัญญาเป็นเบื้องต้น เห็นว่ากฎหมายเวนิสมิได้ห้ามการทำสัญญาแบบนี้ อันโตนิโยจึงตกในที่เสียเปรียบ จึงขอให้ไชล็อกกรุณา แต่ไม่เป็นผล ไชล็อกกลับบอกว่าจะ “บังคับ” ตนด้วยเหตุผลใด ปอร์เชียจึงกล่าวหว่านล้อมอย่างคมคาย และเตือนไชล็อกว่าอย่าได้อ้างแต่ความยุติธรรมตามสัญญา
ตรงนี้เอง จึงเป็นที่มาของคำประพันธ์อันลือลั่น ที่ปอร์เชียกล่าวต่อไชล็อก เรื่องราวทั้งหมดหาอ่านได้ตามอัธยาศัย

ที่มา : http://www.oknation.net/blog/