'พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมสมเด็จพระบรมราชชนนีทุกวันประทับข้างพระแท่น ทรงกุมพระหัตถ์ รับสั่งเล่าเรื่องต่าง ๆ ที่สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงสนพระราชหฤทัยถวายเรื่อย ๆ'

เมื่อครั้งสมเด็จย่าเสด็จสวรรคต


สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงพระประชวรอีกครั้งเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 ทรงมี พระอาการทางพระหทัยกำเริบ และทรงเหนื่อยอ่อน คณะแพทย์ถวายการรักษาเบื้องต้นที่วังสระปทุม จนถึงคืนวันที่ 2 มิถุนายน จึงได้เชิญเสด็จพระราชดำเนินเข้าประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลศิริราช ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพักรักษาพระองค์จากพระโรคพระหทัย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

ในเวลาต่อมาพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับสั่งเล่าเหตุการณ์ในเวลานั้นว่า


หมอเขาบอกมาและโทร.มาบอกสมเด็จพระบรมราชชนนีพระอาการไม่ดีก็เลยไปเฝ้าฯ ไปเฝ้าแล้วเห็นว่าอาการดีขึ้นบ้าง ท่านลืมพระเนตรท่านเห็น เออ กลับบ้านไปซะทีมาอยู่นานแล้ว ก็กลับบ้านวันรุ่งขึ้น หมอบอกไม่ดีต้องเข้าโรงพยาบาล ก็ให้ท่านไปโรงพยาบาล แล้วไปเฝ้าที่โรงพยาบาลเกือบทุกวัน พระอาการไม่ค่อยดีนัก

ภายหลังจากที่เสด็จเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน คณะแพทย์พบว่าเกิดการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต จึงได้ถวายพระโอสถปฏิชีวนะเพิ่ม ต่อมา มีพระอาการแทรกซ้อน มีการอักเสบที่พระอันตะพระอันตคุณ (ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก) และที่พระปับผาสะ (ปอด) ข้างขวา คณะแพทย์ได้พยายามถวายการรักษาสุดความสามารถ พระอาการทั่วไปดีขึ้นบ้าง


ระหว่างนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมสมเด็จพระบรมราชชนนีทุกวันประทับข้างพระแท่น ทรงกุมพระหัตถ์ รับสั่งเล่าเรื่องต่าง ๆ ที่สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงสนพระราชหฤทัยถวายเรื่อย ๆ เวลานั้นคณะแพทย์ถวายยานอนหลับที่ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายทำให้เหมือนบรรทมหลับ แต่ก็ยังรู้พระองค์บ้างสังเกตได้จากการเต้นของพระหทัย

ส่วนสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ประทับอยู่ที่โรงพยาบาลตลอดเพื่อทรงช่วยดูแลสมเด็จพระบรมราชชนนี ท่านผู้หญิงทัศนาวลัยก็มาเฝ้าฯ สมเด็จยายด้วยทุกวัน ช่วยพยาบาลอย่างคล่องแคล่ว จนคณะแพทย์พยาบาลรู้สึกเหมือนกับว่าท่านผู้หญิงเป็นหนึ่งในคณะ “เวลาหลัง ๆ ต้องมีการอุ้ม เช็ดองค์ ท่านผู้หญิงจะช่วย และรู้จังหวะหมดทุกอย่าง ถอดหมอนตรงโน้น ทำนั่นตรงนี้ เวลาบรรทม ท่านทำได้คล่องแคล่ว” เวลานั้นคณะแพทย์ต้องระมัดระวังเรื่องการติดเชื้อโรคเป็นอย่างยิ่ง ผู้ที่จะเข้าเฝ้าฯ ในห้องที่ประทับส่วนใหญ่คือผู้ที่ถวายการรักษาและพระประยูรญาติที่ใกล้ชิดที่สุดเท่านั้น


ในขณะที่สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงพระประชวรครั้งนี้ ประชาชนทั้งหลายต่างจดจ่อคอยติดตามข่าวพระอาการจากแถลงการณ์ของสำนักพระราชวังที่ประกาศในหนังสือพิมพ์และทางโทรทัศน์ ประชาชนจำนวนมากทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดได้ชักชวนกันปฏิบัติธรรม ตักบาตรทำบุญบำเพ็ญประโยชน์เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลด้วยความจงรักภักดี


ในระยะต้นที่ทรงประชวร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงความวิกฤตของพระอาการแต่ทรงหวังว่าสมเด็จพระบรมราชชนนีจะทรงหายพระประชวรได้ในที่สุด รับสั่งกับคณะแพทย์ว่า แม้ว่าสมเด็จพระบรมราชชนนีอาจจะไม่สามารถทรงพระดำเนินได้ ต้องประทับเก้าอี้เข็นก็ไม่เป็นไร ขอเพียงแต่ช่วยให้ทรงใช้พระหัตถ์ทรงงานต่าง ๆ ได้เช่นเดิม เพราะโรดการทรงงานด้วยพระองค์เองเสมอ


แต่นับแต่วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา พระอาการไม่ดีขึ้น คณะแพทย์ต้องถวายการรักษาด้วยการฟอกพระโลหิตด้วยเครื่องไตเทียมเป็นครั้งคราวตามความจำเป็น


ต่อมาแถลงการณ์สำนักพระราชวังฉบับที่ 18 ประกาศว่า เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงมีพระอาการทรุดลง เนื่องด้วยมีพระอาการแทรกซ้อนทางพระยกนะ (ตับ) และพระวักกะ (ไต )ไม่ทำงาน พระหทัยทำงานไม่ปกติ ความดันพระโลหิตต่ำทำให้เกิดภาวะเป็นกรดในพระโลหิต คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาความผิดปกติของระบบต่าง ๆ รวมทั้งการฟอกพระโลหิตด้วยเครื่องไตเทียมและกรองสารพิษซึ่งเกิดจากภาวะผิดปกติของพระยกนะ แต่พระอาการตั้งแต่เช้าจนเที่ยงของวันที่ 18 กรกฎาคมคงอยู่ในภาวะวิกฤต


เวลาประมาณ 18 นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาเฝ้าฯ สมเด็จพระบรมราชชนนี ณ ห้องประทับ ตึก 84 ปีประทับข้างพระแท่นสมเด็จพระบรมราชชนนีพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระนัดดา ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม ต่อมาสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินมาเฝ้าฯ ด้วย


เวลา 21 นาฬิกา 17 นาที สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกราบที่พระหัตถ์ พระประยูรญาติทรงกราบ และผู้ที่เข้าเฝ้าฯ ทุกคนในที่นั้นจึงหมอบกราบพร้อมกัน
แพทย์หญิงสำอางค์ คุรุคัตนพันธ์ วิสัญญีแพทย์ที่เฝ้า อยู่ในที่ประทับวันนั้นฟื้นความทรงจำว่าท่านประทับอย่างสงบอยู่พักหนึ่งก็รับสั่งเรื่องงาน รับสั่งให้ทางศิริราชนำพระศพไปส่ง ให้เป็นเรื่องของทางศิริราชจะจัดการอย่างไรก็แล้วแต่ วันนี้ให้เอาพระศพไว้ที่นี่ก่อนแล้วให้ไปส่งพรุ่งนี้ แล้วรับสั่งขอบใจทุกคน ทุกพระองค์ไม่ฟูมฟายเลย แต่พระเนตรที่ก่ำแดงทุกพระองค์ เสด็จออกมาก็รับสั่งทำนองว่า หมอโรงพยาบาลทำดีที่สุดแล้ว และก็ขอบใจทุกคน


สำนักพระราชวังได้ประกาศแถลงการณ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีสวรรคตเมื่อเวลา 23 นาฬิกา 30 นาที แต่ประชาชนส่วนใหญ่กว่าจะได้รู้ข่าวสวรรคตก็ต่อเมื่อรุ่งเช้าวันที่ 19 กรกฎาคม เมื่ออ่านหนังสือพิมพ์หรือฟังวิทยุดูโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์พาดหัวข่าวตัวดำใหญ่ สมเด็จย่าสวรรคต ผู้ประกาศข่าวและพิธีกรในรายการโทรทัศน์สวมชุดดำไว้ทุกถวายตั้งแต่เช้า ตามท้องถนนทุกจังหวัดทั่วประเทศ ผู้คนที่ไปทำงานไปทำธุระแต่งชุดดำหรือสีขาวเป็นส่วนมาก แต่ละคนมีสีหน้าโศกสลดหม่นหมอง


ที่กรุงเทพฯ ประชาชนส่วนหนึ่งเดินทางไปที่ตึก 84 ปีโรงพยาบาลศิริราชเพื่อถวายสักการะพระบรมศพ อีกเป็นจำนวนมากได้หลั่งไหลไปยังศาลาสหทัยสมาคมในพระบรมมหาราชวังเพื่อร่วมถวายน้ำสรงพระบรมศพหน้าพระฉายาลักษณ์ ยืนเข้าแถวยาวเหยียดล้นออกนอกกำแพงพระบรมมหาราชวังท่ามกลางแดดแผดเผาไม่ย่นระย่อ ทั้งหนุ่มสาวเด็กคนชราคลาคละกัน ต่างถ้อยทีถ้อยอาศัยมีน้ำใจที่ยังแข็งแรง หนุ่มสาวก็เอ่ยปากให้ผู้สูงอายุไปนั่งหลบใต้เงาไม้ก่อน ตนจะยืนรอให้ เมื่อแถวเคลื่อนถึงหน้าศาลาจึงค่อยมาแทรกไม่ต้องทนร้อนทนทุกข์อยู่กลางแดด


ตอนบ่าย เวลาประมาณ 15 นาฬิกา อัญเชิญพระบรมศพจากโรงพยาบาลศิริราชไปยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมหาราชวังสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินเป็นประธาน ขบวนอัญเชิญพระบรมศพเคลื่อนไปตามถนนพรานนก ขึ้นสะพานอรุณอัมรินทร์ สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เข้าถนนราชดำเนินสู่พระบรมมหาราชวัง ตลอดเส้นทางสองฟากถนน ประชาชนจำนวนมากยืนเรียงรายท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าวและแดดแรงกล้าเฝ้าฯ ถวายบังคมพระบรมศพ บางคนร่ำไห้ปิ่มปานจะขาดใจ บ้างก็ซับหยาดน้ำตาที่ไหลรินร่องแก้ม


เมื่อประมาณ 16 นาฬิกา 30 นาที ก่อนที่จะมีพระราชพิธีสรงน้ำพระบรมศพ ณ พระที่นั่งพิมานรัตยาอากาศก็เปลี่ยนไป มีเมฆครึ้มและฝนตกอย่างหนัก “สายฝนที่หลั่งไหลทำให้บรรยากาศซึมเศร้าเป็นที่อัศจรรย์แก่พสกนิกรทั่วกัน”


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวังจัดการพระบรมศพถวายพระเกียรติยศสูงสุดตามราชประพณี หลังจากพระราชพิธีสรงน้ำพระบรมศพแล้วเข้าพนักงานเชิญพระบรมศพลงสู่หีบที่สร้างเป็นกรณีพิเศษ ตำรวจหลวงเชิญไปประดิษฐานหลังพระเบญจาทองคำสลักลายดุนประดับรัตนชาติสีขาวบนฐานปิดทองทราย ทรงพระบรมโกศที่มีเครื่องประดับครบทุกอย่างซึ่งประดิษฐานภายใต้สัปตปฎลเศวตฉัตร แวดล้อมด้วยเครื่องพรอภิรุมหักทองขวาง ประกอบด้วยฉัตรชุมสาย 3 ชั้น ฉัตร 5 ชั้น ฉัตร 7 บังแทรก และบังพระสูรย์ ณ มุขตะวันตกพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เต็มตามพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมราชชนนี


* * * * * * * * * * * * *


คัดมาจากหนังสือ "พระมามลายโศกหล้า เหลือสุข" ในบทที่ 24 เขียนโดย ศุภรัตน์ เลิศพาณิชย์กุล ที่ปรึกษาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี


ที่มา : http://www.matichon.co.th/