เคอร์คิวมินอยด์เป็นสารสีเหลืองสกัดจากเหง้าขมิ้นชัน (Curcuma longa Linn.) ประกอบด้วย สารหลัก 3 ตัว คือ เคอร์คูมิน (curcumin) ดีเมท็อกซี่เคอร์คูมิน (Demethoxycurcumin) และ บิสดีเมท็อกซี่เคอร์คูมิน (Bisdemethoxycurcumin) เคอร์คิวมินอย์มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดี จึงนำมาใช้ประโยชน์ทั้งทางด้านยา อาหาร และเครื่องสำอาง ได้มีการวิจัยทั้งในคนและสัตว์ทดลองพบว่า เคอร์คูมินอยด์มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ฤทธิ์บำรุงรักษาตับ ช่วยป้องกันมะเร็ง ฤทธิ์ในการลดระดับโคเลสเตอรอล และ ฤทธิ์ในการป้องกันสมองเสื่อม
อนุมูลอิสระและสารต้านอนุมูลอิสระ
อนุมูลอิสระ คือโมเลกุลที่มีอีเลคตรอนเดี่ยว ซึ่งอยู่ในภาวะไม่คงตัว ว่องไวต่อการเกิดปฏิกริยาเคมี สาเหตุการเกิดอนุมูลอิสระมีได้หลายทาง เช่นแสงแดด อาหารที่เรารับประทานทุกวัน ภาวะมลพิษรอบๆ ตัวเรา เช่น ควันบุหรี่ ยาฆ่าแมลง สารเคมีจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้านทั่วๆ ไป ในสภาวะปกติอนุมูลอิสระถูกจำกัดโดยระบบ ป้องกันของร่างกาย แต่ถ้ามีปริมาณมากเกินกว่าจะถูกทำลาย อนุมูลอิสระเหล่านี้จะไปทำปฏิกริยากับภูมิคุ้มกันและ มีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพและการเกิดพยาธิสภาพของโรคต่างๆ เช่น ปวดเมื่อย โรคเกี่ยวกับหัวใจ โคเลสเตอรอลสูง แก่ก่อนวัย และเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง สารต้านอนุมูลอิสระสามารถยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระหรือทำลายอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นในร่างกาย ป้องกันเนื้อเยื่อหรือซ่อมแซมส่วนของเซลล์ที่ถูกทำลายโดยอนุมูลอิสระ แหล่งที่ให้สารต้านอนุมูลอิสระได้แก่ ร่างกาย อาหารบางชนิด และโดยการรับประทาน เนื่องจากสิ่งแวดล้อมที่มีมลภาวะสูงทั้งในและนอกบ้าน การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม การสูบบุหรี่ คนส่วนมากจึงได้สารต้านอนุมูลอิสระจากร่างกายและอาหาร ไม่เพียงพอ จำเป็นต้องเพิ่มเข้าไปในร่างกาย สารต้านอนุมูลอิสระแต่ละชนิดจะทำหน้าที่ในการต้านอนุมูลอิสระ แตกต่างกันออกไป สำหรับเคอร์คูมินอยด์นั้นทำหน้าที่ทั้งป้องกันและต่อต้านอนุมูลอิสระ
สรุปงานวิจัยเกี่ยวกับเคอร์คูมินอยด์
1. เคอร์คูมินอยด์ลดการสร้างอนุมูลอิสระของไขมันและลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือดได้อย่างมี นัยสำคัญในคน ขนาดเคอร์คูมินอยด์ที่ใช้ประมาณ 500 มก./วัน หรือเทียบเท่า ขมิ้นแห้งที่ได้มาตรฐานประมาณ 10 กรัม
2. เคอร์คูมินอยด์ป้องกันโรคสมองเสื่อมโดยลดจำนวนกลุ่มของสารซึ่งเป็นสาเหตุของโรคสมองเสื่อม ได้ในสัตว์ทดลอง นอกจากนี้ เคอร์คูมินอยด์ ยังช่วยลดการอักเสบของเนื้อเยื่อสมองที่เป็นโรคเกี่ยวกับสมองเสื่อมและ ลดการเสียหาย เนื่องจากการเกิดอนุมูลอิสระของเซลล์ในสมอง
3. เคอร์คูมินอยด์ยับยั้งการสร้างเอนไซม์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งบางชนิดและโรคอักเสบอย่าง เรื้อรังในสัตว์ทดลอง จากการศึกษามะเร็งเต้านมในคน เคอร์คูมินอยด์สามารถลดการเติบโตของมะเร็งเต้านมที่เกิด จากการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีที่เป็นสาเหตุการเกิดของมะเร็งเต้านมได้ ในสัตว์ทดลองบพว่าเคอร์คูมินและอนุพันธ์ ของเคอร์คูมินสามารถยับยั้งการเกิดปฏิกริยาเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็งที่ลำไส้และผิวหนัง
4. เคอร์คูมินอยด์ป้องกันสารเคมี ยาฆ่าแมลงที่มีคุณสมบัติคล้ายเอสโตรเจน รวมทั้ง ดีดีที และไดอ๊อกซิน ไม่ให้เข้าสู่เซลล์และป้องกันเซลล์ไม่ให้เป็นมะเร็ง
5. ได้มีการทดลองทางคลินิกพบว่าการให้เคอร์คูมินอยด์ขนาด 1200 มก. ต่อวันเป็นเวลา 5-6 สัปดาห์ มีฤทธิ์ในการลดการอักเสบ โดยเคอร์คูมินอยด์ไปยับยั้งการสร้างเอนไซม์ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์สารที่ก่อให้เกิด การอักเสบ เคอร์คูมินอยด์จึงสามารถนำมาใช้ต้านการอักเสบได้ เหมาะกับคนที่มีปัญหาเรื่องปวดข้อ แต่ทนยา แผนปัจจุบันไม่ได้เพราะมีผลข้างเคียงมากมาย โดยเฉพาะผลต่อกระเพาะอาหาร
6. สารสกัดขมิ้นชันมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อราที่เป็นสาเหตุโรคผิวหนังโดยเฉพาะเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคกลาก
7. ขมิ้นชันยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนอง สารสำคัญในการออกฤทธิ์ คือ เคอร์คูมิน น้ำมันหอมระเหย และ p-tolylmethylcarbinol
ที่มา : http://www.gpo.or.th/