มองมุมใหม่ : Blue Ocean Strategy

2/10/50 |

กระแสของ Blue Ocean Strategy ผู้อ่านบางท่านอาจจะเคยได้ยินมาบ้าง แต่เชื่อว่าส่วนมากจะเริ่มสงสัยแล้วว่า คืออะไร ถ้าถามผมว่าในปัจจุบันแนวคิดทางการจัดการในเรื่องใดที่ได้รับความตื่นตัวและสนใจกันมากในช่วงระยะหลัง ก็คงจะต้องตอบว่า Blue Ocean Strategy คงเป็นหนึ่งในนั้นด้วย ช่วงหลังก็เริ่มมีองค์กรชั้นนำหลายแห่งเริ่มจัดให้มีการสัมมนากันเรื่องของ Blue Ocean Strategy กันมากขึ้น

แนวคิดของ Blue Ocean มาจากนักวิชาการสองคนชื่อ W. Chan Kim และ Renee Mauborgne ซึ่งทั้งคู่เป็นอาจารย์จาก INSEAD สถาบันทางด้านบริหารธุรกิจชื่อดังในฝรั่งเศส เช่นเดียวกับพัฒนาการของแนวคิดทางการจัดการอื่นๆ ที่โด่งดัง อาจารย์ทั้งสองท่านได้ร่วมกันเขียนบทความที่นำไปสู่เรื่องของ Blue Ocean นี้มาในวารสาร Harvard Business Review มาเป็นระยะๆ จนท้ายที่สุดเมื่อตอนต้นปีถึงออกหนังสือเรื่อง Blue Ocean Strategy นี้ขึ้นมา

ผู้อ่านอาจจะเริ่มสงสัยว่าเจ้า Blue Ocean Strategy คืออะไรกันแน่ ซึ่งก่อนที่จะไปรู้จักกัน ต้องพาผู้อ่านไปรู้จักกับ Red Ocean กันก่อน การแข่งขันธุรกิจที่พบเห็นอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน ล้วนแต่ถูกจัดให้เป็น Red Ocean ทั้งสิ้น เนื่องจากบริษัทในอุตสาหกรรมแต่ละรายก็จะมุ่งเน้นจะเอาชนะคู่แข่งอื่นๆ เพื่อที่จะแย่งชิงลูกค้ามาให้ได้มากที่สุด และทำให้ได้กำไรมากที่สุด และแนวทางที่สำคัญที่จะเอาชนะคู่แข่งให้ได้ก็คือ จะต้องดูว่าคู่แข่งของเราทำอะไรบ้าง สินค้าและบริการของคู่แข่งเป็นอย่างไร เมื่อคู่แข่งออกสินค้าหรือบริการอะไรใหม่ออกมา เราก็จะต้องทำตามและออกมาบ้าง เพื่อไม่ให้น้อยหน้าคู่แข่ง

และเมื่อวงจรนี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายสินค้าและบริการในอุตสาหกรรมก็จะมีลักษณะที่เหมือนกัน หาความแตกต่างได้ลำบาก และนำไปสู่การแข่งขันทางด้านราคาเป็นหลัก ซึ่งก็จะไม่ทำให้ใครได้ประโยชน์หรือเกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน คู่แข่งทุกเจ้าในอุตสาหกรรมก็จะเกิดการบาดเจ็บเป็นแผล และเลือดไหลซิบๆ ซึ่งก็คือชื่อที่มาของ Red Ocean นั่นเอง ผู้อ่านลองมองไปรอบๆ ตัวแล้วจะพบว่า อุตสาหกรรมหรือธุรกิจส่วนใหญ่ในไทยจะเข้าสู่ภาวะของ Red Ocean Strategy ทั้งสิ้น โดยในระยะแรกความแตกต่างระหว่างสินค้าและบริการของผู้เล่นแต่ละรายยังพอเห็นได้ชัดเจน แต่พอนานเข้า ความแตกต่างระหว่างสินค้าและบริการของแต่ละรายก็จะเหมือนกันทุกๆ ที และสุดท้ายก็จะไปแข่งกันในเรื่องของราคา หรือการส่งเสริมการขายในรูปแบบต่างๆ ทีนี้เรามาดูเจ้า Blue Ocean กันบ้าง หลักการของ Blue Ocean นั้นจะไม่มุ่งเน้นที่จะตอบสนองต่ออุปสงค์ที่มีอยู่ แต่จะเน้นในการสร้างความต้องการหรืออุปสงค์ขึ้นมาใหม่ (Demand Creation) โดยไม่สนใจและให้ความสำคัญกับคู่แข่งเดิมๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรม เป็นการสร้างความต้องการของลูกค้า และอุตสาหกรรมใหม่ขึ้นมา ก่อให้เกิดประโยชน์หรือคุณค่าทั้งต่อองค์กรเองและลูกค้า โดยลูกค้าก็จะได้รับคุณค่าที่ก่อให้เกิดความแตกต่าง ในขณะที่องค์กรก็จะลดต้นทุนในส่วนที่ไม่จำเป็น และนำไปสู่การเติบโตขององค์กร

ถ้าผู้อ่านยังนึกอุตสาหกรรมที่เกิดจาก Blue Ocean ไม่ออก ก็ลองย้อนกลับไปซักสามสิบปี แล้วดูซิครับว่าอุตสาหกรรมไหนบ้างที่ในปัจจุบันมี และสามสิบปีที่แล้วยังไม่มี ตัวอย่างง่ายๆ เช่น สถานีข่าวยี่สิบสี่ชั่วโมงอย่าง CNN ที่ในอดีตนั้นสถานีโทรทัศน์ก็จะมีรายการที่หลากหลาย

แต่สิ่งที่ CNN ทำคือสร้างตลาดและอุตสาหกรรมใหม่ขึ้นมาที่นำเสนอข่าวยี่สิบสี่ชั่วโมงต่อวัน ลูกค้าของ CNN จะเป็นกลุ่มใหม่ที่ไม่ใช่ลูกค้าของสถานีโทรทัศน์เดิมๆ ที่มีอยู่ ลูกค้าจะได้รับคุณค่าจาก CNN ในลักษณะที่ไม่ได้จากสถานีโทรทัศน์ช่องอื่น และขณะเดียวกัน CNN ก็ไม่จำเป็นต้องแบกต้นทุนที่สูงเกินเหตุเนื่องจากเป็นสถานีโทรทัศน์ที่มุ่งเน้นแต่การนำเสนอข่าวเพียงอย่างเดียว

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนคือ สายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Airlines) ที่เราคุ้นเคยกันดี ทีนี้ตอนที่สายการบินต้นทุนต่ำเกิดขึ้นมาใหม่ๆ (สายการบิน Southwest) เราจะเห็นว่าสายการบินต้นทุนต่ำไม่ได้มุ่งเน้นที่จะแข่งขันกับสายการบินเจ้าเดิมๆ ที่มีอยู่แล้ว แต่พยายามมุ่งตอบสนองต่อผู้ที่เดินทางด้วยรถยนต์หรือรถไฟ

ตัวอย่างที่เห็นในบ้านเรา ก็อย่าง โออิชิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการส่งอาหารญี่ปุ่นตามบ้าน หรือที่เรียกว่า Delivery แต่พอนึกถึงโออิชิก็ทำให้ต้องนึกถึงข้อที่ต้องระวังของ Blue Ocean เหมือนกันนะครับ นั่นคือพอทำในสิ่งที่ยังไม่มีคู่แข่งทำ ก็จะส่งผลให้คุณภาพของสินค้าและบริการแย่ไปด้วย

ผมเองมีประสบการณ์ที่เลวร้ายกับการสั่งโออิชิมากินที่บ้านหลายครั้ง ทั้งส่งช้าหรือส่งไม่ครบ ซึ่งเมื่อเทียบกับพวกพิซซ่าทั้งหลายแล้ว คุณภาพของการส่งต่างกันมาก ทั้งนี้ เนื่องจากการมีคู่แข่งมาคอยกดดันอย่างใกล้ชิด ทำให้น่าคิดเหมือนกันว่าถ้าเน้น Blue Ocean มากๆ แล้ว สร้างความต้องการใหม่ๆ ขึ้นมา โดยที่ยังไม่มีคู่แข่งขัน จะส่งผลต่อคุณภาพของบริการที่แย่แบบโออิชิหรือไม่?

จริงๆ แล้ว ประเด็นหลักของหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่สิ่งที่ใหม่นัก มีหนังสือในลักษณะเดียวกันออกมาก่อนหน้านี้หลายเล่ม เพียงแต่ความแตกต่างหรือโดดเด่นของหนังสือเล่มนี้ก็คือ แทนที่จะพร่ำพรรณนาเพียงอย่างเดียว กลับนำเสนอเครื่องมือในการวิเคราะห์และกำหนดกลยุทธ์ที่องค์กรสามารถนำไปปรับใช้ เพื่อให้สร้าง Blue Ocean ออกมาได้ ซึ่งในสัปดาห์หน้าเราจะมาต่อกันถึงการวิเคราะห์และกำหนดกลยุทธ์ เพื่อให้เกิด Blue Ocean ออกมานะครับ



ผู้เขียน : รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



ที่มา : http://www.thaitrainingzone.com/