ตังกุย

17/3/51 |

ในตำรับยาสมุนไพรจีน ตังกุย เป็นสมุนไพรที่รู้จักกันดี และนิยมใช้กันอย่างมาก เช่นเดียวกับโสม ถั่งเฉ้า และเห็ดหลินจือ ตามสรรพคุณตังกุยจะได้มาจากส่วนรากของพืชวงศ์ Umbelliferae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Abgelica sinensis (Oliv) Diels เป็นสมุนไพรที่มีกลิ่นหอม รสหวานออกขมเล็กน้อย จัดอยู่ในกลุ่มสมุนไพรที่มีรสอุ่นกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิต บำรุงโลหิต ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ และแก้ปวด
โดยความนิยมแล้วถือว่า ตังกุย เป็นสมุนไพรที่ทรงคุณค่าสำหรับสตรี เนื่องจากเป็นตัวยาที่มีผลต่อมดลูกโดยตรง คือมีสรรพคุณ ในการช่วยให้ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ แก้ปวดประจำเดือน ช่วยบรรเทาอาการปวดหัว ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว (rheumatism) และเป็นยาระบายท้องอ่อนๆ ด้วย
มีรายงานจาการทดลองพบว่า สารสกัดจากตังกุย ในส่วนที่เป็นน้ำมันหอมระเหยที่มีจุดเดือดสูง (high boiling point) ประมาณ 180 องศาเซลเซียส ถึง 210 องศาเซลเซียส จะมีคุณสมบัติด้านการบีบตัว (ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว) ของมดลูกได้ แต่สำหรับในเชิงเภสัชวิทยา แล้วจะเกิดผล 2 กรณี คือ
ประการแรกคือเมื่ออยู่ในภาวะตั้งครรภ์ มดลูกจะมีความไวต่อภาวะความกดดัน ในโพรงมดลูกสูง สารสกัดจากรากตังกุยจะมีผลต่อกล้ามเนื้อมดลูก คือ นอกจากจะลดการบีบตัวแล้ว ยังทำให้การตอบสนองต่อความกดดัน ในโพรงมดลูกน้อยลง (decreasing the myometrial sensitivity) และจะมีผลให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณมดลูกมากขึ้น โดยการขยายหลอดเลือด ผลก็คือลดโอกาสในการแท้งบุตรได้ จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมตังกุยจึงเป็นผลดีต่อสตรีที่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์
ประการที่สองคือสำหรับสตรีทั่วไปและสตรีภายหลังการคลอดบุตร ตังกุยจะมีผลต่อระบบประจำเดือน คือ ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้ปวดประจำเดือน ในตำรับยาจีนจะผสมตังกุยกับหัวแห้วหมู (Cyperus rotundus) โกฐจุฬาลำเภาจีน (Artemisia argyi) เปลือกลูกพรุน (Prunus persica) และดอกคำฝอย (Carthamus tinctorius) เพื่อเป็นยาช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ ถึงแม้คำอธิบายเรื่องนี้ ยังไม่ชัดเจนมากนัก แต่ก็มีรายงานว่า
ในสารสกัดของตังกุยทั้งในส่วนของสารสกัดด้วยน้ำ และแอลกอฮอล์ที่ไม่ใช่เป็นสารกลุ่มน้ำมันหอมระเหย มีคุณสมบัติในการกระตุ้นการหดตัวของกล้ามเนื้อมดลูกได้ดี (คือ เพิ่มการบีบตัวของมดลูก) จึงนิยมใช้ตังกุยเป็นยาช่วยในการขับน้ำคาวปลา และช่วยทำให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็วขึ้น
สำหรับการรักษาอาการหลังหมดประจำเดือน มีการทดลองใช้ตังกุย ร่วมกับตัวยาอื่นอีก 5 ชนิด ในคนไข้ 43 คน พบว่าส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้น คือ อาการร้อนวูบ มึนงง ตาพร่า และอาการไม่สบายในช่องท้องจะลดลงประมาณ 70%ตังกุยมีความเป็นพิษหรือไม่โดยทั่วไปแล้ว ตังกุยก็เช่นเดียวกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ คือ ถ้าใช้ในปริมาณที่ปกติก็ไม่พบอันตรายอย่างไร แม้ในบางคน ที่ได้รับตังกุยแล้วเกิดอาการผิดปกติ เมื่อหยุดยาอาการดังกล่าวก็มักจะหายไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัยเสียเลยทีเดียว ถ้าร่างกายได้รับสารมาก ส่วนจะมากเท่าใดนั้นคงยากที่จะตอบ แต่จากการทดลองในสัตว์ โดยใช้สารสกัดน้ำปริมาณ 0.3-0.9 กรัมต่อน้ำหนักตัว 10 กรัม ฉีดเข้าสู่กระเพาะ จะมีผลให้การเต้นของหัวใจช้าลง ความดันโลหิตลดลง และกดการหายใจ และเมื่อได้รับสารมากขึ้นก็จะแสดงอาการมากขึ้น แต่จวบจนปัจจุบันก็ยังไม่พบว่ามีผู้ใดได้รับอันตรายร้ายแรง จากการรับประทานตังกุยเลย
“ตังกุย” เป็นยาสำหรับสตรีเท่านั้นหรือ ผู้ชายรับประทานได้หรือไม่ถ้าดูจากสรรพคุณดั้งเดิม ที่ว่าตังกุยเป็นยาที่ใช้สำหรับ บำรุงร่างกายทั่วๆ ไป และบรรเทาอาการปวดเมื่อยต่างๆ ก็น่าจะใช้ได้ดีทั้งกับผู้หญิงและผู้ชาย โดยเฉพาะการมุ่งหวังผล เพื่อเป็นยาบำรุงร่างกาย เพราะในรากตังกุยจะมีวิตามินบี 12 ในปริมาณที่มาก (0.25-0.4 ไมโครกรัม/100 กรัมของน้ำหนักรากแห้ง) ยังมีสารโฟลิก (Folic) และไบโอติน (Biotin) ซึ่งมีผลต่อการสร้างปริมาณเม็ดเลือด ในร่างกาย จึงนิยมใช้เป็นยาบำรุงโลหิต
ยิ่งกว่านั้นยังมีการทดลองที่พบและแสดงให้เห็นว่า สัตว์ที่ได้รับสารสกัดจากรากตังกุยจะมีขนาด และน้ำหนักของตับ และม้ามเพิ่มขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพของเม็ดเลือดขาวชนิด macrophage ในการทำลายสิ่งแปลกปลอมในร่างกายได้ดีขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพ การทำงานของตับ ซึ่งส่งผลถึงการสร้างระบบภูมิต้านทานของร่างกายที่ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังมีข้อมูลค่อนข้างจำกัด คงต้องรอผลการวิจัยต่อไป
ผลต้านการอักเสบและลดการบวม โดยการทดสอบทางชีวเคมี ถึงขบวนการเกิดการอักเสบ พบว่า สารจากตังกุยสามารถขัดขวางการเกิด 5-hydroxytryptamine (5-HT) และลดการส่งผ่านของสารทางผนังเซลล์หัวใจ (coronary flow) และกระแสโลหิตที่ร่างกาย peripheral blood flow ได้โดยการทำให้หลอดเลือดขยายตัว (dilate vessel) มีผลต่อการเต้นของหัวใจ ให้ความดันล่างสูงขึ้น
นอกจากรายงานทีกล่าวมาแล้ว ยังมีรายงานการวิจัย ถึงสรรพคุณของตังกุยอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมาก เช่นเป็นสารต้านการเจริญเติบโตของเชื้อราบางชนิด+ใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนัง เช่น แก้อาการคัน+ใช้เป็นยาแก้หืด+ใช้เป็นยาแก้ปวด+ใช้ลดไขมันในโลหิต โดยลดการดูดซึมโคเลสเตอรอล (cholesterol) เข้าสู่ร่างกาย ซึ่งเป็นการป้องกันโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด , ต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือดปัจจุบัน วงการแพทย์ตะวันตกต่างหันมาสนใจ ให้ความสนใจต่อสมุนไพรมากขึ้น และยังคงมีการวิจัยศึกษา หาคุณประโยชน์ของสมุนไพรกันอย่างกว้างขวางและจริงจัง เพื่อค้นหาความลับในการรักษาและบำบัดโรคภัยต่างๆ รวมทั้งเคล็ดลับในการบำรุงสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อการมีชีวิตที่ยืนยาว และมีสุขภาพดียิ่งขึ้นที่มา : FITWAY THAILAND