กรรมวิธีการปรุงยาสมุนไพรแผนโบราณนั้นมีมากมายหลายวิธีนัก แต่ในที่นี้จะขอกล่าวแนะนำวิธีที่ใช้กันบ่อยอยู่ 5 วิธี ดังต่อไปนี้ค่ะ

คราวนี้จะขอแนะนำ การชง เป็นรูปแบบการเตรียมยาคล้ายการชงชา โดยใช้น้ำเดือดใส่ลงในสมุนไพร ซึ่งมักทำในรูปตากแห้งแล้ว ทิ้งไว้สักพักจากนั้นเทน้ำแรกทิ้งเสมือนเป็นการทำความสะอาด แล้วจึงเทน้ำลงใหม่ แต่หากบางชนิดบรรจุมาอย่างสะอาดแล้วก็สามารถชงน้ำทานได้เลย

ส่วนของสมุนไพรที่เป็นยา อาจเป็นใบ กิ่ง ผล เมล็ด ให้นำมาทำความสะอาดแล้วหั่นเป็นชิ้นเล็กๆบางๆ หรือบดเป็นผง ผึ่งแดดให้แห้ง บางชนิดอาจนำไปอบกลิ่นก่อน ..ส่วนภาชนะที่ใช้ควรเป็นภาชนะเคลือบ..วิธีการชงทำได้โดยใช้สมุนไพร 1 ส่วน เติมน้ำประมาณ 10 ส่วน หรือบางตำรับอาจน้อยกว่านั้นได้ และบางตำรับอาจมีผสมน้ำผึ้งน้ำตาลบ้างในการปรุงรส ปิดฝาทิ้งไว้ 5-10 นาที ซึ่งนิยมปรุงและดื่มทันที ไม่ทิ้งไว้นาน

สมุนไพรที่ใช้เป็นยาชงได้แก่ หญ้าหนวดแมว ชุมเห็ดเทศ ขิง มะตูม เก็กฮวย เป็นต้น และอีก 4 วิธียอดนิยมที่เหลือ ดิฉันจะทยอยนำเสนอต่อไปว่ามีอะไรบ้าง และจากข้อมูลที่ดิฉันได้มีไว้นี้ได้มาจากการค้นคว้าและรวบรวมจากหลายที่มาและทั้งจากการศึกษาจึงขอกราบขอบพระคุณท่านครูอาจารย์ ท่านวิทยากร ผู้รวบรวมองค์ความรู้ทุกท่านไว้ ณ.ที่นี้ ที่ทำสิ่งที่ดีงามเพื่อสมุนไพรไทยจะอยู่คู่การบำบัดและป้องกันสุขภาพของเราตลอดไปค่ะ /

----------
“ยาต้ม” เป็นการปรุงยาสมุนไพรโดยใช้สมุนไพรแห้งหรือสดต้มรวมกับน้ำ ซึ่งส่วนของสมุนไพรที่ใช้มีหลายส่วน เช่น ลำต้น แก่น ใบ ราก เป็นต้น และมีวิธีการเตรียมโดยการหั่นหรือสับสมุนไพรนั้นๆให้เป็นชิ้นพอดี ใส่ลงในหม้อดิน หม้อกระเบื้อง หรือภาชนะใดก็ได้ที่ไม่ใช่โลหะ แล้วใส่น้ำลงไปจนท่วมตัวยาเล็กน้อย (หากเป็นสมุนไพรแห้ง ควรแช่สมุนไพรกับน้ำนั้นไว้สักครู่)

ให้ใช้ไฟปานกลางในการต้มให้เดือด จากนั้นให้ใช้ไฟอ่อนต้มต่อ ระหว่างนั้นควรมีการคนยาอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้ยาไหม้ติดก้นหม้อ โดยปกติการต้มยาไทยมักจะต้มแบบใส่น้ำ 3 ส่วน ต้มเหลือยา 1 ส่วน ระยะเวลาการต้มขึ้นอยู่กับส่วนของสมุนไพร หากเป็นส่วนของใบ ดอก หรือกิ่งขนาดเล็ก ใช้เวลาต้ม 3-4 นาที หากเป็นส่วนที่แข็ง เช่น ราก หรือแก่น ใช้เวลาต้ม 10 นาที

ยาต้มไม่ควรต้มทิ้งไว้ค้างคืน ควรต้มแล้วแบ่งทานให้หมดภายในวันเดียว จากนั้นให้นำหม้อยาใส่ตู้เย็น วันรุ่งขึ้นค่อยเติมน้ำและต้มทานใหม่ ยาไทยสมัยก่อนมักนิยมต้มในหม้อดิน และปิดปากหม้อครึ่งหนึ่งด้วยใบตองสด หรือผ้าขาวบาง เพื่อความสะดวกในการรินยา และมักมี “เฉลว” ซึ่งทำด้วยตอกสานเป็นรูปดาวเพื่อป้องกันของร้ายไม่ให้มารบกวน หรือบางทีนำเหรียญสลึงไปผูกไว้ที่ปากหม้อเพื่อเป็นการจำนำว่า เมื่อคนไข้หายแล้วจะนำเงินนี้ไปซื้อของมาทำบุญเพื่ออุทิศสส่วนกุศลให้เจ้าของตำรา

ตอนนี้ค่อนข้างยาวนะคะ ไว้ตอนต่อไปจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิธีการใด ต้องติดตามแล้วค่ะ

----------
กำลังเสือโคร่ง…พญาช้างสาร…โด่ไม่รู้ล้ม…คุณได้อ่านชื่อเหล่านี้แล้วคิดถึงการเตรียมยาประเภทใด?…

“ยาดอง” เป็นยาที่ใช้ตัวทำละลายหลายชนิด เช่น เหล้าขาว น้ำมะกรูด น้ำส้ม เป็นต้น เพื่อละลายให้ตัวยาซึมออกมาจากเครื่องยา ในที่นี่จะขอกล่าวเฉพาะ “ยาดองเหล้า” เพราะเป็นรูปแบบที่นิยมกันมาก

การเตรียมยาทำได้โดยนำเครื่องยามาบดอย่างหยาบ หากเป็นแก่นหรือรากที่มีชิ้นใหญ่ให้นำมาหั่นเป็นชิ้นบางๆ แล้วห่อด้วยผ้าขาวบางหลวมๆ เผื่อยาพองตัวเวลาอมน้ำ จากนั้นให้ใส่ห่อยาลงในภาชนะเคลือบหรือขวดโหลแก้วที่มีฝาปิดสนิท

จากนั้นให้เทเหล้าลงไปให้ท่วมห่อยา ปิดฝา แล้วตั้งทิ้งไว้ 7 วัน ระหว่างนั้นอาจยกโหลออกมาตากแดดอ่อนๆตอนสายและควรคนยาให้ทั่ววันละ 1 ครั้ง เวลารับทานควรทานครั้งละ 1 ถ้วยตะไลเล็กๆ วันละ 1-3 ครั้ง ตามแต่ละตำรับเป็นพอ ซึ่งส่วนใหญ่จะทานมากกว่านั้นค่ะ (ไม่ควรทำนะคะ) เพราะยาดองเหล้าค่อนข้างจะมีฤทธิ์แรง จึงไม่ควรใช้กับผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง สตรีมีครรภ์ และผู้แพ้เหล้า

ตอนต่อไปเป็นตอนที่ 4 ซึ่งจะมี 2 วิธี เป็นวิธีใดบ้าง เชิญติดตามต่อนะคะ…..สวัสดีค่ะ

----------
นี่เป็นตอนสุดท้ายค่ะ มีสองวิธีด้วยกัน ดังต่อไปนี้ค่ะ

“ยาผง” เป็นยาสมุนไพรที่นำมาปรุงแล้วบดเป็นผงละเอียด นี่เป็นตอนสุดท้ายค่ะ มีสองวิธีด้วยกัน ดังต่อไปนี้ค่ะ ซึ่งอาจเป็นสมุนไพรเดี่ยวหรือสมุนไพรหลายชนิดก็ได้ เวลาใช้ก็อาจนำมารับประทานเลยหรือนำมาละลายกับน้ำกระสายยาต่างๆตามตำรับก็ได้ค่ะ ส่วนใหญ่ยาผงมักเป็นยาจำพวกยาหอม หรือยาเขียวค่ะ

“ยาลูกกลอน” เป็นยาที่นำสมุนไพรมาหั่นเป็นแว่นบางๆหรือเป็นชิ้นเล็กๆ จากนั้นนำมาบดเป็นผง แล้วนำมากวนกับน้ำผึ้ง (เป็นน้ำผึ้งที่นำไปต้มไล่ความชื้นออกจากน้ำผึ้งและเพื่อเป็นการขจัดสิ่งสกปรกออกจากน้ำผึ้งแล้ว) กวนให้กลมกลืนกัน เมื่อทดลองปั้นแล้วไม่ติดมือก็คือใช้ได้ นำมาปั้นเท่าเม็ดพุทราหรือปลายนิ้วก้อย หรืออาจใช้รางไม้ทำเม็ดได้ จากนั้นนำไปตากแดดจัดหรือนำไปอบแห้ง แล้วใส่ขวดปิดให้มิดชิด

ข้อสำคัญที่สุดตอนนี้ที่คุณทราบแล้วคือ ยาลูกกลอนไม่ใช่ยาผสมเสตียรอยด์ เพียงแต่มีผู้ผลิตไร้จรรยาบรรณบางกลุ่มที่ทำให้ความหมายของคำว่า ยาลูกกลอน ผิดเพี้ยนไป

ก็ครบแล้วทั้ง 5 วิธีนะคะ และหวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกท่านไม่มากก็น้อยค่ะ อยากทราบเรื่องอะไรอีก ลองเขียนมาแนะนำได้ค่ะ ดิฉันจะไปค้นคว้าหามาเล่าใหม่ วันนี้ ไปล่ะค่ะ…….

ที่มา :http://www.nawua-herb.com/