โดย วรากรณ์ สามโกเศศ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มติชนรายวัน วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10547
วารสาร Productivity ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติได้ตีพิมพ์เรื่อง "เหตุและผล......หลักสากลแห่งการเรียนรู้" ซึ่งมาจากการสัมภาษณ์ผู้เขียนคอลัมน์นี้ ดังปรากฏในฉบับล่าสุดเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2550 ผมขอนำบางส่วนของบทสัมภาษณ์ดังกล่าวมานำเสนอในวันนี้
".......ทุกวันนี้สังคมไทยเป็น "สังคมแห่งการเรียนรู้" แล้วหรือยัง? เราเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่ เพราะมีข้อจำกัดบางอย่าง ประการแรกคือเราเป็นสังคมที่ชอบเรียนรู้ด้วยวิธีการบอกเล่า คนไทยชอบใช้การบอกเล่า ไม่นิยมการจดบันทึก บางคนพอตายไปแล้วคำบอกเล่าก็เลยตายไปกับตัว
หรือการใช้ความจำบางทีก็ทำให้ข้อมูลเพี้ยนไป จำไม่ได้บ้าง จำผิดบ้าง อายุมากเข้าความจำก็เลอะเลือนไปบ้าง หรือบางทีก็จงใจบิดเบือนไปบ้างทำให้ข้อมูลขาดความแม่นยำ
ขณะที่สังคมฝรั่งนิยมการจดบันทึกมานานอย่างวินเซ้นต์แวน โก๊ะ เฉือนติ่งหูข้างซ้ายเราก็รู้ แต่จิตรกรรมฝาผนังในวัดพระแก้ว ใครเป็นคนวาดกันบ้างเรายังไม่รู้เลย เพราะไม่เคยมีการบันทึก หรือเรื่องกรุงศรีอยุธยาแตกแค่ 200 กว่าปีมานี้เอง เรายังไม่มีหลักฐานมากมายอย่างชัดเจน คำให้การของชาวกรุงเก่าก็เป็นการบันทึกคำบอกเล่า ซึ่งบางทีก็เล่าเพี้ยนไป เล่าตามอคติตัวเอง หรือเล่าตามที่ได้ยินมา ไม่ได้เห็นด้วยตาตัวเอง เมื่อใช้การบอกเล่าก็เลยมีปัญหา คือข้อมูลมีโอกาสผิดเพี้ยน ไม่ชัดเจน ทำให้การเรียนรู้ไม่ออกมาเป็นวิทยาศาสตร์ วิธีการบอกเล่าจึงเป็นข้อจำกัดข้อหนึ่งในการเรียนรู้
ข้อจำกัดประการที่ 2 ของสังคมไทย คือเรื่องของการเป็นเด็กกับผู้ใหญ่ ความสัมพันธ์เป็นแบบ "แนวตั้ง" คือเด็กต้องฟังผู้ใหญ่ ความกล้าที่จะถาม กล้าที่จะซัก กล้าที่จะไม่เห็นด้วย เลยไม่มี ทั้งที่ความจริงแล้วความรู้จะแตกฉานได้ ถ้ามีความเห็นที่ตรงกันข้าม โดยที่ต่างคนก็เคารพในความคิดเห็นซึ่งกันและกัน พอที่จะถกเถียงกันได้ โดยที่แต่ละฝ่ายยังชอบหน้ากันอยู่
ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นจุดอ่อนอันดับที่ 3 ของสังคมไทยคือถ้าเห็นไม่ตรงกัน ก็จะไม่ชอบหน้ากันด้วย เช่นถ้าเถียงกันในที่ประชุมทั้งคู่ก็จะหมางใจกันเลย หรือถ้าคนหนึ่งชอบคุณทักษิณแต่อีกคนไม่ชอบก็จะคุยกันไม่ได้แล้ว ในขณะที่สังคมฝรั่งคนที่ชอบบุชกับคนที่ไม่ชอบบุชก็ยังเป็นเพื่อนกันได้แม้ความคิดเห็นจะไม่ตรงกันก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไม่ชอบหน้ากัน แต่ของคนไทยถ้าความเห็นไม่ตรงกันต้องหลีกเลี่ยงไม่คุยกัน ซึ่งเรื่องนี้ผมมองว่าคนไทยเราเป็นมากกว่าชาติอื่น
ข้อจำกัดประการที่ 4 คือคนไทยไม่เข้าใจว่า "การแลกเปลี่ยนเรียนรู้" คืออะไรอย่างชัดเจนทั้งๆ ที่เราทำกันอยู่แล้วทุกวัน แต่กลับไปเข้าใจว่าต้องทำอย่างเป็นทางการ เป็นเทคนิควิธีการของฝรั่ง หรือมองไม่เห็นประโยชน์การเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ เลยทำให้ไม่ค่อยใส่ใจที่จะเรียนรู้ซึ่งกันและกัน กระบวนการเรียนรู้ก็เลยไม่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ทั้งที่จริงแล้ว เราสามารถเรียนรู้ได้จากทุกคน คนทุกคนล้วนมีคุณค่า
.......จะปลูกฝังค่านิยมรักการเรียนรู้ในสังคมไทยได้อย่างไร? ผมคิดว่า "การคิดแบบวิทยาศาสตร์" หรือ "การคิดอย่างมีเหตุมีผล" เป็นเรื่องสำคัญ คนไทยเราส่วนใหญ่ยังคิดไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ยกตัวอย่างเรื่องหวยบนดินยากมากเลยที่เราจะถูกเลขแจ๊คพ็อต 2 ตัว 3 ตัว โอกาสจริงๆ มีแค่ 1 ใน 270 ล้าน เรียกว่าโดนฟ้าผ่า 3 ที จระเข้กัดอีก 2 ที ยังจะง่ายกว่า แต่คนไทยก็ยังคงซื้อหวย ไม่ได้ใช้วิทยาศาสตร์คิดว่าโอกาสถูกมันน้อยมากเลยนะ เอาเงินไปซื้อสลากออมสินยังจะดีกว่า
บางคนไปเจอปลาเผือกก็เอามาใส่อ่างกราบกราน มันไม่ใช่วิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องไสยศาสตร์งมงาย ผมเชื่อว่าแม่ชม้อย เกิดขึ้นในสังคมไทยได้ตลอดเวลา เพราะความโลภบวกกับความเชื่ออะไรง่ายๆ ของคนไทยที่ไม่ได้คิดให้เป็นวิทยาศาสตร์ คือยังเชื่ออะไรแบบไม่มีเหตุมีผลอยู่ ทั้งๆ ที่พุทธศาสนาสอนให้เราเชื่อเหตุเชื่อผล เป็นการสอนวิทยาศาสตร์โดยแท้ ไม่ได้สอนให้เชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ผมมองว่าทางแก้ไขก็คือเราต้องสร้างสังคมที่มีพื้นฐาน "การคิดที่มีเหตุมีผล" ให้มากขึ้น เริ่มต้นด้วยการสร้างศรัทธาต่อระบบความคิด ที่เป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็คือการคิดที่เป็นเหตุเป็นผลสอดรับกัน โดยมีพ่อแม่เป็นหลักสำคัญในการเลี้ยงลูก พ่อแม่ต้องใช้เหตุผลในการอธิบายมากกว่าให้ลูกต้องฟังเพราะพ่อแม่สั่ง เช่นเวลาที่พ่อแม่ห้ามไม่ให้ลูกทำอะไรก็ต้องบอกเหตุผลว่าทำไม เมื่อห้ามกลับบ้านดึกก็ต้องให้เหตุผลว่าเพราะจะมีอันตรายต่างๆ อย่างไรบ้าง ฯลฯ
โรงเรียนก็มีส่วนสำคัญ โรงเรียนต้องสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ ต้องอธิบายเรื่องต่างๆ เช่น ผีตากผ้าอ้อม ผีฟ้า ผีกระสือ ฯลฯ ให้เด็กฟังว่าจริงๆ แล้วในทางวิทยาศาสตร์คืออะไร ควรฝึกให้เด็กบันทึกในไดอารี่ว่าวันนี้ทำอะไรบ้าง เพราะการบันทึกเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กเกิดศรัทธาในความจริงหรือความรู้ที่อยู่บนกระดาษ
ครูต้องส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยการถกความคิดกัน เช่น เรื่องห้ามนำมือถือมาโรงเรียนก็อาจจะให้เด็ก ป.6 รวมกลุ่มช่วยกันคิดว่าการนำมือถือมาโรงเรียนนั้นเหมาะสมหรือไม่ มีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง เหตุผลต่างๆ ก็จะออกมาจากการคิดของเด็กๆ เช่น มือถือทำให้เกิดความแตกต่างทางสังคม มีเสียงดังในห้องเรียน ไม่มีสมาธิในการเรียน อาจสูญหายได้ ฯลฯ เด็กก็จะเข้าใจว่าด้วยเหตุผลเหล่านี้เอง ผู้ใหญ่ถึงห้าม เมื่อรู้เหตุผลเด็กก็จะไม่เอามือถือมาโรงเรียน แต่ถ้าด้วยเหตุผลว่าเพราะครูสั่งห้ามอย่างนี้ก็อาจมีคนอยากลองของ เพราะรู้สึกว่าไม่มีเหตุผล
ผมเชื่อว่าเด็กฉลาดทุกคน ไม่มีใครโง่หรอก เพียงแต่ว่าเขาจะถูกดึงศักยภาพออกมาหรือไม่เท่านั้น สำหรับครูเองก็ต้องพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ครูต้องมีวิธีการสอนที่ดึงดูดความสนใจของเด็ก ความรู้ของครูถือเป็นสิ่งสำคัญ แต่ความตั้งใจของครูและวิธีการนำเสนอของครูถือว่าสำคัญมาก ถ้าครูไม่มีคุณภาพแล้ว เด็กก็ลำบาก
นอกจากนี้สังคมเองก็ต้องช่วยส่งเสริมให้คนมีความคิดทางวิทยาศาสตร์ ต้องทำให้สังคมของเราเป็นสังคมแห่งการใช้เหตุใช้ผล มากกว่าไสยศาสตร์หรือใช้ความเชื่อส่วนตัวเป็นเกณฑ์ ต้องมีหนังสือที่ดีออกมาให้คนอ่าน มีรายการโทรทัศน์ที่สร้างสรรค์ เราต้องสร้างเงื่อนไขล้อมรอบให้หมดเลย
ผมมองว่าสื่อไม่ควรเพียงแค่ตอบสนองอย่างเดียว แต่ต้องชี้นำ ต้องเตือนสติคนด้วยว่าสิ่งไหนไม่ถูกต้อง หนังสือพิมพ์ควรเลิกเอารูปเกี่ยวกับการเล่นหวยมาลง เลิกเอารูปที่เต็มไปด้วยเลือดมาลง เราต้องช่วยกัน เพราะภาพอย่างนี้ไม่ช่วยทำให้เราเป็นวิทยาศาสตร์ แต่จะกลายเป็นคนที่นิยมความรุนแรง นิยมความไม่มีเหตุผล
รายการโทรทัศน์ก็ต้องไม่เอาเรื่องงมงายมาออกอากาศ ต้องตัดเรื่องพวกนี้ให้น้อยลง ให้เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น อย่างรายการของช่อง 9 เช่น "ฉลาดสุดสุด" หรือ Mega Clever ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสนับสนุน รายการ "คนค้นฅน" "กบนอกกะลา" ฯลฯ ล้วนเป็นรายการโทรทัศน์ที่ดีและประเทืองปัญญา เป็นการนำเสนอความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลสอดคล้องกัน ไม่ใช่เปิดโทรทัศน์แล้วก็เจอแต่ละครกับมิวสิควิดีโอ สังคมไทยอาจจะเปลี่ยนชั่วข้ามคืนไม่ได้ แต่ก็ควรมีทางเลือกให้แก่ประชาชน
นอกจากนี้แล้วภาครัฐยังเป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญที่จะช่วยทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้น ภาครัฐควรสนับสนุน "ความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์" ให้เป็น "วาระแห่งชาติ" โดยเริ่มต้นที่การสร้างศรัทธาให้คนในสังคมเห็นก่อนว่า ความคิดแบบนี้คือสิ่งที่มีประโยชน์ต่อชาติ ถ้าพ่อแม่ศรัทธา ครูศรัทธา โรงเรียนศรัทธาว่าเราต้องช่วยกันแก้ปัญหากันที่ตรงนี้ คือเราต้องมีความคิดเป็นวิทยาศาสตร์ รวมทั้งการบันทึกบอกเล่าก็จะทำให้การเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น ทำให้คนอยากรู้อยากเห็น และรู้ว่าความอยากรู้อยากเห็นนั้นจะทำให้ตัวเองก้าวหน้า
ผมมองโลกในแง่ดีว่า เราสามารถเปลี่ยนคนได้ภายในชั่วคนรุ่นเดียว เพราะคนรุ่นหนึ่งห่างกันแค่ 20 ปีเท่านั้น ดังนั้น ถ้าภายใน 20 ปี คนรุ่นนี้พร้อมใจกันเปลี่ยนแปลง ผมมั่นใจว่าเราทำได้ ผมไม่เชื่อว่าฝรั่ง ญี่ปุ่น หรือเกาหลี จะวิเศษมากมาย เมื่อก่อนสังคมของเขาก็เป็นอย่างนี้ แต่เพราะว่าประเทศของเขามีความพยายาม มีความมุ่งมั่นในระดับชาติ เขาจึงพัฒนามาถึงขั้นนี้ได้
ผมคิดว่าการคิดแบบวิทยาศาสตร์ หรือการคิดที่มีเหตุผลรับกัน เป็นรากฐานที่สำคัญของสังคม และควรเป็นวาระแห่งชาติของคนไทย
0 comments:
แสดงความคิดเห็น