เส้นสายบนชายคากับลูกมังกรทั้งเก้า

พวกเขาปรากฏอยู่ทั่วไปในงานศิลปะตกแต่งที่แฝงกลิ่นอายโบราณของจีน ทั้งที่มีเพียงคำเล่าขานในหมู่ชนว่า “ลูกมังกรทั้งเก้า ไม่เป็นมังกร แต่ต่างมีดีที่ตน”

หากได้ไปชมสถาปัตยกรรมโบราณของจีน ตามวัดวาอาราม พระราชวัง ตำหนัก หอ ศาลา ฯลฯ เราจะได้พบเห็นงานศิลปะตกแต่งที่งดงามประหลาด ซุกซ่อนอยู่ตามสถานที่ต่างๆ อาทิ ขอบมุมอาคาร บานประตู สะพาน ระฆัง ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระราชวังต้องห้ามที่นครปักกิ่ง อันเป็นสถานที่สถิตสถาพรของโอรสแห่งสวรรค์ หากแหงนคอเงยหน้าขึ้น ก็จะพบว่าบริเวณสันหลังคาของสถาปัตยกรรมโบราณเหล่านี้ เรียงรายด้วยรูปสัตว์ที่ทำขึ้นจากกระเบื้องสีเขียวบ้าง เหลืองบ้างในลักษณะที่แตกต่างกันไป

รูปปั้นและลวดลายเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเป็นรูปลักษณ์ของลูกมังกรทั้งเก้าจากตำนานเทพเจ้ายุคโบราณของจีน และต่างก็มีพัฒนาการไปตามกาลเวลาเช่นเดียวกับลวดลายมังกร จากบันทึกสมัยราชวงศ์หมิงหลายฉบับได้กล่าวถึงลักษณะพิเศษเฉพาะของลูกมังกรแตกต่างกันไป ซึ่งในส่วนที่เห็นพ้องกันโดยมาก ได้แก่

1. ปี้ซี่ (赑屃)มีรูปเป็นเต่า แต่ปี้ซี่จะมีฟัน ซึ่งแตกต่างจากรูปเต่าโดยทั่วไป มีพละกำลังมหาศาล โดยมากเป็นฐานของแผ่นศิลาจารึก สามารถพบเห็นได้ตามวัดวาอารามต่างๆ กล่าวกันว่าหากได้สัมผัสจะนำพาโชคลาภมาให้
2. ปี้อ้าน (狴犴)หรือเซี่ยนจาง รูปเป็นพยัคฆ์ น่าเกรงขาม มักเกี่ยวข้องกับคดีความ โดยมากจึงสลักรูปสัญลักษณ์นี้ไว้บนประตูเรือนจำ เสือเป็นสัตว์ที่ทรงอำนาจ ดังนั้นปี้อ้านจึงมีส่วนในการข่มขวัญเหล่านักโทษในเรือนจำให้มีความเคารพต่อสถานที่
3. เทาเที่ย (饕餮)รูปคล้ายหมาป่า มีนิสัยตะกละตะกลาม ดังนั้น ในสมัยโบราณผู้คนจึงนำมาประดับไว้บนภาชนะที่บรรจุของเซ่นไหว้ และเนื่องจากเทาเที่ยเป็นสัตว์ที่มีนิสัยดุร้ายและตะกละ ดังนั้น จึงมีคำเปรียบเปรยถึงบุคคลที่เห็นแก่กินและละโมบโลภมาก ว่าเป็นพวกลูกสมุนของเทาเที่ย นอกจากนี้ เนื่องจากเทาเที่ยดื่มกินได้ในปริมาณมาก จึงพบว่ามีการนำเทาเที่ยมาประดับที่ด้านข้างของสะพานเพื่อป้องกันเหตุน้ำท่วม
4. ผูเหลา (蒲牢)มีรูปคล้ายมังกรตัวน้อย ชอบร้องเสียงดัง กล่าวกันว่า ผูเหลาอาศัยอยู่ริมฝั่งทะเล และเกรงกลัวปลาวาฬเป็นที่สุด ทุกครั้งที่ถูกปลาวาฬเข้าทำร้าย ผูเหลาจะส่งเสียงร้องไม่หยุด ดังนั้น ผู้คนจึงนำผูเหลามาประดับไว้บนระฆัง จากนั้นสลักไม้ตีระฆังเป็นรูปของปลาวาฬ เมื่อนำไปตีระฆัง จะได้เสียงที่สดใสดังกังวาน
5. ฉิวหนิว (囚牛)มีรูปเป็นมังกรสีเหลืองตัวน้อยที่มีเขาของกิเลน ชอบดนตรี ผู้คนจึงมักสลักรูปของฉิวหนิวไว้ที่ด้ามซอ
6. เจียวถู(椒图)มีรูปคล้ายลวดลายก้นหอย มักจะปิดปากเป็นนิจสิน เนื่องจากธรรมชาติของหอยนั้น เมื่อถูกรุกรานจากศัตรูภายนอก ก็จะปิดเปลือกสนิทแน่น ผู้คนจึงมักจะวาดหรือสลักลวดลายของเจียวถูไว้ที่บานประตู เพื่อแทนความหมายถึงความปลอดภัย
7. ชือเหวิ่น(鸱吻)หรือชือเหว่ย เฮ่าว่าง เป็นต้น มีรูปคล้ายมังกรแต่ไม่มีสันหลัง ปากอ้ากว้าง ชอบการผจญภัย และยังชอบกลืนไฟ กล่าวกันว่า ชือเหวิ่นอาศัยอยู่ในทะเล มีหางคล้ายเหยี่ยวนกกระจอก สามารถพ่นน้ำดับไฟได้ เชื่อว่าป้องกันสิ่งชั่วร้ายและอัคคีภัยได้ ดังนั้น หากพบมังกรที่มีหางขดม้วนเข้าประดับอยู่บนสันหลังคา นั่นก็คือ ชือเหวิ่น
8. ซวนหนี (狻猊)แต่เดิมซวนหนีเป็นคำเรียกหนึ่งของสิงโต ดังนั้น ซวนหนีจึงมีรูปเป็นราชสีห์ ชอบเพลิงไฟ และชอบนั่ง เนื่องจากสิงโตมีรูปลักษณ์เป็นที่น่าเกรงขาม ทั้งได้รับการเผยแพร่เข้ามาในจีนพร้อมกับพุทธศาสนา โดยมีคำกล่าวเปรียบพระพุทธเจ้าเป็นดั่งราชสีห์ ดังนั้น ผู้คนจึงนำลวดลายของซวนหนีมาประดับที่แท่นอาสนะของพระพุทธรูป และบนกระถางธูป เพื่อให้ซวนหนีได้กลิ่นควันไฟที่โปรดปราน
9. หยาจื้อ (睚眦)มีรูปคล้ายหมาไน ชอบกลิ่นอายการสังหาร คำว่า หยาจื้อ เดิมมีความหมายว่าถลึงตามองด้วยความโกรธ ต่อมาแฝงนัยของการแก้แค้น ซึ่งก็ย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงจากการเข่นฆ่า จึงมักจะนำมาประดับอยู่บนด้ามมีดและฝักดาบ เป็นต้นตำนานลูกมังกรทั้งเก้า

ตำนานของลูกมังกรทั้งเก้า

เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง (ปี 1368 – 1644) โดยมีจุดเริ่มจากหลิวป๋อเวิน(刘伯温)เสนาบดีคู่บัลลังก์มังกร กล่าวกันว่า หลิวป๋อเวินเดิมเป็นเทพบนสวรรค์ที่อยู่ข้างกายอวี้ตี้หรือเง็กเซียนฮ่องเต้ เมื่อถึงปลายราชวงศ์หยวน แผ่นดินจีนลุกเป็นไฟ การศึกสงครามไม่สิ้น ราษฎรอดอยากยากแค้น เง็กเซียนฮ่องเต้จึงส่งหลิวป๋อเวินลงมาถือกำเนิดบนโลกมนุษย์ เพื่อช่วยกอบกู้ภัยพิบัติ พร้อมทั้งได้มอบกระบี่ประกาศิต ที่สามารถสั่งการต่อพญามังกรได้ แต่เนื่องจากในเวลานั้น พญามังกรเฒ่าสังขารร่างกายอ่อนล้า จึงส่งให้บุตรทั้งเก้าของตนมารับภารกิจนี้แทน

ลูกมังกรทั้งเก้าต่างมีอิทธิฤทธิ์แกร่งกล้า พวกเขาติดตามหลิวป๋อเวินออกศึกนับครั้งไม่ถ้วน หนุนเสริมจูหยวนจางสถาปนาแผ่นตินต้าหมิง ทั้งช่วยเหลือจูตี้ให้ได้มาซึ่งบัลลังก์มังกร ต่อเมื่อภารกิจเสร็จสิ้นสมบูรณ์ จึงคิดจะกลับคืนสู่สรวงสวรรค์ แต่จักรพรรดิหมิงเฉิงจู่หรือจูตี้ กลับต้องการให้พวกเขาอยู่ข้างกาย เพื่อช่วยให้ตนเองเป็นใหญ่ในแผ่นดินตลอดไป ดังนั้นจึงอ้างเหตุก่อสร้างพระราชวังต้องห้ามที่ปักกิ่ง หยิบยืมดาบประกาศิตจากหลิวป๋อเวิน เพื่อสั่งการต่อลูกมังกรทั้งเก้า แต่ลูกมังกรต่างไม่ยอมสยบ

จูตี้เห็นว่าไม่อาจควบคุมลูกมังกรไว้ได้ จึงออกอุบาย โดยกล่าวกับปี้ซี่ที่เป็นพี่ใหญ่ว่า “ปี้ซี่ เจ้ามีพลังมากมายมหาศาล สามารถยกวัตถุนับหมื่นชั่งได้ ถ้าหากเจ้าสามารถแบกป้ายศิลาจารึก “เสินกงเซิ่งเต๋อเปย” ของบรรพบุรุษข้าไปด้วยได้ ข้าก็จะปล่อยพวกเจ้าไป” ปี้ซี่เห็นว่าเป็นเพียงป้ายศิลาเล็กๆก้อนหนึ่ง จึงเข้าไปแบกรับไว้โดยไม่ลังเล แต่ทำอย่างไรก็ไม่อาจยกเคลื่อนไปได้ ที่แท้ ป้ายศิลาจารึกนี้ ได้จารึกคุณความดีของ “โอรสสวรรค์” เอาไว้ (จากคติของจีนที่กล่าวว่า คุณความดีนั้น ไม่อาจชั่งตวงวัดได้) ทั้งยังมีตราประทับลัญจกรของฮ่องเต้สองสมัย สามารถสยบเทพมารทั้งปวงได้

ลูกมังกรที่เหลือเห็นว่าพี่ใหญ่ถูกกดทับอยู่ใต้ศิลาจารึก ต่างไม่อาจหักใจจากไป จึงได้แต่รั้งอยู่บนโลกมนุษย์ต่อไป เพียงแต่ ต่างก็ให้สัตย์สาบานว่า จะไม่ปรากฏร่างจริงอีก ดังนั้น แม้ว่าจูตี้สามารถรั้งลูกมังกรทั้งเก้าเอาไว้ได้ แต่ก็เป็นเพียงรูปสลักของสัตว์ทั้งเก้าชนิดเท่านั้น หลิวป๋อจือเมื่อทราบเรื่องในภายหลังจึงผละจากจูตี้ กลับคืนสู่สวรรค์ จูตี้รู้สึกเสียใจและสำนักผิดต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ จึงจัดวางหน้าที่ให้กับลูกมังกรทั้งเก้า สืบทอดเรื่องราวสู่คนรุ่นหลังไม่ให้เดินตามรอยความผิดพลาดของตน เรียบเรียงจาก เชียนหลงเน็ต

ที่มา : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ