โดย วรากรณ์ สามโกเศศ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มติชนรายวัน วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10400

มีผู้ส่งอี-เมล ข้อเขียนภาษาอังกฤษมาให้ผม ภายใต้ชื่อว่า You have two choices อ่านแล้วรู้สึกประทับใจ จึงขอแปลและถ่ายทอดต่อในวันนี้
เจอรี่เป็นผู้จัดการภัตตาคาร เขาเป็นคนอารมณ์ดีอยู่ตลอดเวลา เมื่อใดที่มีคนถามว่าเขาสบายดีหรือ เขาตอบอย่างนี้เสมอ "ถ้าจะให้สุขกว่านี้ได้คงต้องมีคู่แฝด" (มีความสุขล้นอยู่แล้ว หากจะให้สุขกว่านี้ได้ก็ต้องมีอีกร่างมารองรับความสุข หรือเป็นเพื่อน-ผู้เขียน)
เมื่อเจอรี่เปลี่ยนงาน พนักงานเสิร์ฟหลายคนก็มักจะลาออกจากงานตามเขาไปด้วยจากร้านหนึ่งไปอีกร้านหนึ่ง ทำไม? เพราะว่าเจอรี่เป็นนักจูงใจโดยธรรมชาติให้ผู้คนมีกำลังใจ
ถ้าลูกจ้างคนไหนมีสภาพจิตใจไม่ดี เขาก็จะเป็นเพื่อนข้างเคียงที่ชี้ชวนให้มองด้านบวกของสถานการณ์เสมอ
เมื่อเจอรี่เป็นอย่างนี้ ทำให้ผมอยากรู้เคล็ดลับของเขา วันหนึ่งผมก็เดินไปหาเขาและถามเจอรี่ว่า "ผมไม่เข้าใจ ไม่มีใครสามารถมองโลกในด้านดีได้ตลอดเวลา คุณทำได้ยังไงนะเจอรี่ ?"
เจอรี่ตอบว่า "ทุกเช้าที่ผมตื่นขึ้น ผมจะบอกตัวเองว่าวันนี้ผมมีสองทางเลือก ผมสามารถเลือกที่จะมีอารมณ์ดี หรือเลือกที่จะมีอารมณ์เสีย และผมเลือกที่จะมีอารมณ์ดีทุกครั้ง เมื่อมีสิ่งไม่ดีเกิดขึ้น ผมสามารถเลือกที่จะเป็นเหยื่อของมันหรือผมเลือกที่จะเรียนรู้จากมัน และผมก็เลือกที่จะเรียนจากมันเสมอเช่นกัน"
ทุกครั้งที่มีคนมาหาผมและถามว่า ผมสามารถเลือกที่จะรับคำบ่นว่าของเขาหรือชี้ให้เห็นด้านบวกของชีวิต และผมก็เลือกการชี้ด้านบวกของชีวิตเสมอ
"แต่มันไม่ได้ง่ายๆ อย่างนั้นเสมอไปไม่ใช่หรือ" ผมท้วง "ใช่ครับมันไม่ง่าย" เจอรี่ตอบ
ชีวิตเป็นเรื่องของการเลือกทั้งสิ้น ถ้าคุณตัดไอ้ส่วนที่เป็นขยะออกไปแล้ว ทุกสถานการณ์คือการเลือกอย่างหนึ่งนั่นเอง
คุณเลือกที่จะมีปฏิกิริยาอย่างไรก็ได้ต่อสถานการณ์หนึ่ง
คุณเลือกที่จะให้คนอื่นมีผลกระทบอย่างไรก็ได้ต่ออารมณ์ของคุณ
คุณเลือกได้ที่จะอยู่ในภาวะอารมณ์ดี หรืออารมณ์เสีย
มันเป็นทางเลือกของคุณว่าคุณจะใช้ชีวิตอย่างไร
หลายปีต่อมา ผมได้ยินว่าเจอรี่ได้เลินเล่อกระทำสิ่งต้องห้ามในธุรกิจร้านอาหารนั่นก็คือเผลอเปิดประตูหลังร้านไว้
ในเช้าวันหนึ่งเขาก็ถูกปล้นโดยชายสามคน ขณะที่ถูกบังคับให้เปิดเซฟ มือเขาสั่นจากความหวาดกลัวจนหมุนรหัสไม่ถูกต้อง โจรตื่นตกใจก็เลยยิงเขา
โชคดีที่มีคนพบเขาและส่งโรงพยาบาลทันเวลา หลังจากการผ่าตัดนาน 8 ชั่วโมง และอีกหลายอาทิตย์ของการเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด เจอรี่ก็กลับบ้านได้โดยมีเศษโลหะจากหัวกระสุนฝังอยู่ในตัวเขา
ผมพบเจอรี่ประมาณ 6 เดือนหลังจากเหตุการณ์นั้น เมื่อผมถามเขาว่าสบายดีหรือ เขาก็ตอบอย่างเดิมว่า "ถ้าจะให้สุขกว่านี้ได้คงต้องมีคู่แฝดละครับ จะดูแผลเป็นของผมไหม?"
ผมปฏิเสธที่จะดูรอยแผลของเขา แต่ถามเขาว่าเขาคิดอะไรอยู่ในขณะที่ถูกปล้น "สิ่งแรกที่ผ่านเข้ามาในใจผมก็คือ ผมควรล็อคประตูหลังร้าน" เจอรี่ตอบ
ขณะที่นอนอยู่บนพื้นหลังจากถูกยิง ผมจำได้ว่าผมมีสองทางเลือก หนึ่งคือเลือกที่จะมีชีวิตรอด หรือสองเลือกที่จะตาย
"คุณไม่กลัวเหรอ" ผมถาม เจอรี่ก็พูดต่อไปว่า "พวกบุคลากรแพทย์ปฐมพยาบาลนั้นยอดมาก เขาบอกผมตลอดเวลาที่พาไปโรงพยาบาลว่าทุกอย่างโอเคผมรอดแน่
แต่เมื่อเขาเอาผมใส่รถเข็นเข้าห้องฉุกเฉิน ผมเห็นสีหน้าของพวกหมอและพยาบาลแล้ว ผมรู้สึกกลัวขึ้นมาทันที เพราะในตาของพวกเขาอ่านได้ว่า "เขาคงตายแน่" ผมรู้ทันทีว่าผมต้องทำอะไรสักอย่าง "คุณทำอะไรล่ะ" ผมถาม
"มีพยาบาลตัวใหญ่คนหนึ่งตะโกนถามคำถามผม เธอถามว่าผมแพ้อะไรบ้าง" ผมก็ตอบว่า "ผมแพ้ลูกปืนครับ"
ในขณะที่เขาหัวเราะกัน ผมก็บอกเขาว่า "ผมเลือกที่จะมีชีวิตรอด กรุณาผ่าตัดผมเสมือนว่าผมเป็นสิ่งมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่ซากศพที่ตายแล้วนะครับ"
เจอรี่รอดชีวิตมาได้เพราะฝีมือของหมอ และทัศนคติอันน่าอัศจรรย์ของเขา
ผมเรียนรู้จากเขาทุกวันว่า คุณมีทางเลือกที่จะหาความสุขจากชีวิตหรือขมขื่นกับชีวิต
สิ่งที่เป็นของคุณอย่างแท้จริงชนิดที่ไม่มีใครสามารถควบคุมหรือเอาไปจากตัวคุณได้ก็คือทัศนคติของคุณ ถ้าคุณสามารถจัดการในเรื่องนี้ได้สิ่งอื่นๆ ในชีวิตจะง่ายขึ้นอีกมากมาย
มาถึงตรงนี้คุณมีสองทางเลือก (1) โยนทิ้งข้อความนี้ไปเสีย หรือ (2) สื่อข้อความนี้ต่อให้ใครสักคนที่คุณห่วงใย
ผมหวังว่าคุณจะเลือกข้อ (2) นะครับ สำหรับผมนั้นได้เลือกข้อ (2) ไปแล้วไง

โดย วรากรณ์ สามโกเศศ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มติชนรายวัน วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10547


วารสาร Productivity ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติได้ตีพิมพ์เรื่อง "เหตุและผล......หลักสากลแห่งการเรียนรู้" ซึ่งมาจากการสัมภาษณ์ผู้เขียนคอลัมน์นี้ ดังปรากฏในฉบับล่าสุดเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2550 ผมขอนำบางส่วนของบทสัมภาษณ์ดังกล่าวมานำเสนอในวันนี้
".......ทุกวันนี้สังคมไทยเป็น "สังคมแห่งการเรียนรู้" แล้วหรือยัง? เราเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่ เพราะมีข้อจำกัดบางอย่าง ประการแรกคือเราเป็นสังคมที่ชอบเรียนรู้ด้วยวิธีการบอกเล่า คนไทยชอบใช้การบอกเล่า ไม่นิยมการจดบันทึก บางคนพอตายไปแล้วคำบอกเล่าก็เลยตายไปกับตัว
หรือการใช้ความจำบางทีก็ทำให้ข้อมูลเพี้ยนไป จำไม่ได้บ้าง จำผิดบ้าง อายุมากเข้าความจำก็เลอะเลือนไปบ้าง หรือบางทีก็จงใจบิดเบือนไปบ้างทำให้ข้อมูลขาดความแม่นยำ
ขณะที่สังคมฝรั่งนิยมการจดบันทึกมานานอย่างวินเซ้นต์แวน โก๊ะ เฉือนติ่งหูข้างซ้ายเราก็รู้ แต่จิตรกรรมฝาผนังในวัดพระแก้ว ใครเป็นคนวาดกันบ้างเรายังไม่รู้เลย เพราะไม่เคยมีการบันทึก หรือเรื่องกรุงศรีอยุธยาแตกแค่ 200 กว่าปีมานี้เอง เรายังไม่มีหลักฐานมากมายอย่างชัดเจน คำให้การของชาวกรุงเก่าก็เป็นการบันทึกคำบอกเล่า ซึ่งบางทีก็เล่าเพี้ยนไป เล่าตามอคติตัวเอง หรือเล่าตามที่ได้ยินมา ไม่ได้เห็นด้วยตาตัวเอง เมื่อใช้การบอกเล่าก็เลยมีปัญหา คือข้อมูลมีโอกาสผิดเพี้ยน ไม่ชัดเจน ทำให้การเรียนรู้ไม่ออกมาเป็นวิทยาศาสตร์ วิธีการบอกเล่าจึงเป็นข้อจำกัดข้อหนึ่งในการเรียนรู้
ข้อจำกัดประการที่ 2 ของสังคมไทย คือเรื่องของการเป็นเด็กกับผู้ใหญ่ ความสัมพันธ์เป็นแบบ "แนวตั้ง" คือเด็กต้องฟังผู้ใหญ่ ความกล้าที่จะถาม กล้าที่จะซัก กล้าที่จะไม่เห็นด้วย เลยไม่มี ทั้งที่ความจริงแล้วความรู้จะแตกฉานได้ ถ้ามีความเห็นที่ตรงกันข้าม โดยที่ต่างคนก็เคารพในความคิดเห็นซึ่งกันและกัน พอที่จะถกเถียงกันได้ โดยที่แต่ละฝ่ายยังชอบหน้ากันอยู่
ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นจุดอ่อนอันดับที่ 3 ของสังคมไทยคือถ้าเห็นไม่ตรงกัน ก็จะไม่ชอบหน้ากันด้วย เช่นถ้าเถียงกันในที่ประชุมทั้งคู่ก็จะหมางใจกันเลย หรือถ้าคนหนึ่งชอบคุณทักษิณแต่อีกคนไม่ชอบก็จะคุยกันไม่ได้แล้ว ในขณะที่สังคมฝรั่งคนที่ชอบบุชกับคนที่ไม่ชอบบุชก็ยังเป็นเพื่อนกันได้แม้ความคิดเห็นจะไม่ตรงกันก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไม่ชอบหน้ากัน แต่ของคนไทยถ้าความเห็นไม่ตรงกันต้องหลีกเลี่ยงไม่คุยกัน ซึ่งเรื่องนี้ผมมองว่าคนไทยเราเป็นมากกว่าชาติอื่น
ข้อจำกัดประการที่ 4 คือคนไทยไม่เข้าใจว่า "การแลกเปลี่ยนเรียนรู้" คืออะไรอย่างชัดเจนทั้งๆ ที่เราทำกันอยู่แล้วทุกวัน แต่กลับไปเข้าใจว่าต้องทำอย่างเป็นทางการ เป็นเทคนิควิธีการของฝรั่ง หรือมองไม่เห็นประโยชน์การเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ เลยทำให้ไม่ค่อยใส่ใจที่จะเรียนรู้ซึ่งกันและกัน กระบวนการเรียนรู้ก็เลยไม่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ทั้งที่จริงแล้ว เราสามารถเรียนรู้ได้จากทุกคน คนทุกคนล้วนมีคุณค่า
.......จะปลูกฝังค่านิยมรักการเรียนรู้ในสังคมไทยได้อย่างไร? ผมคิดว่า "การคิดแบบวิทยาศาสตร์" หรือ "การคิดอย่างมีเหตุมีผล" เป็นเรื่องสำคัญ คนไทยเราส่วนใหญ่ยังคิดไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ยกตัวอย่างเรื่องหวยบนดินยากมากเลยที่เราจะถูกเลขแจ๊คพ็อต 2 ตัว 3 ตัว โอกาสจริงๆ มีแค่ 1 ใน 270 ล้าน เรียกว่าโดนฟ้าผ่า 3 ที จระเข้กัดอีก 2 ที ยังจะง่ายกว่า แต่คนไทยก็ยังคงซื้อหวย ไม่ได้ใช้วิทยาศาสตร์คิดว่าโอกาสถูกมันน้อยมากเลยนะ เอาเงินไปซื้อสลากออมสินยังจะดีกว่า
บางคนไปเจอปลาเผือกก็เอามาใส่อ่างกราบกราน มันไม่ใช่วิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องไสยศาสตร์งมงาย ผมเชื่อว่าแม่ชม้อย เกิดขึ้นในสังคมไทยได้ตลอดเวลา เพราะความโลภบวกกับความเชื่ออะไรง่ายๆ ของคนไทยที่ไม่ได้คิดให้เป็นวิทยาศาสตร์ คือยังเชื่ออะไรแบบไม่มีเหตุมีผลอยู่ ทั้งๆ ที่พุทธศาสนาสอนให้เราเชื่อเหตุเชื่อผล เป็นการสอนวิทยาศาสตร์โดยแท้ ไม่ได้สอนให้เชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ผมมองว่าทางแก้ไขก็คือเราต้องสร้างสังคมที่มีพื้นฐาน "การคิดที่มีเหตุมีผล" ให้มากขึ้น เริ่มต้นด้วยการสร้างศรัทธาต่อระบบความคิด ที่เป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็คือการคิดที่เป็นเหตุเป็นผลสอดรับกัน โดยมีพ่อแม่เป็นหลักสำคัญในการเลี้ยงลูก พ่อแม่ต้องใช้เหตุผลในการอธิบายมากกว่าให้ลูกต้องฟังเพราะพ่อแม่สั่ง เช่นเวลาที่พ่อแม่ห้ามไม่ให้ลูกทำอะไรก็ต้องบอกเหตุผลว่าทำไม เมื่อห้ามกลับบ้านดึกก็ต้องให้เหตุผลว่าเพราะจะมีอันตรายต่างๆ อย่างไรบ้าง ฯลฯ
โรงเรียนก็มีส่วนสำคัญ โรงเรียนต้องสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ ต้องอธิบายเรื่องต่างๆ เช่น ผีตากผ้าอ้อม ผีฟ้า ผีกระสือ ฯลฯ ให้เด็กฟังว่าจริงๆ แล้วในทางวิทยาศาสตร์คืออะไร ควรฝึกให้เด็กบันทึกในไดอารี่ว่าวันนี้ทำอะไรบ้าง เพราะการบันทึกเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กเกิดศรัทธาในความจริงหรือความรู้ที่อยู่บนกระดาษ
ครูต้องส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยการถกความคิดกัน เช่น เรื่องห้ามนำมือถือมาโรงเรียนก็อาจจะให้เด็ก ป.6 รวมกลุ่มช่วยกันคิดว่าการนำมือถือมาโรงเรียนนั้นเหมาะสมหรือไม่ มีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง เหตุผลต่างๆ ก็จะออกมาจากการคิดของเด็กๆ เช่น มือถือทำให้เกิดความแตกต่างทางสังคม มีเสียงดังในห้องเรียน ไม่มีสมาธิในการเรียน อาจสูญหายได้ ฯลฯ เด็กก็จะเข้าใจว่าด้วยเหตุผลเหล่านี้เอง ผู้ใหญ่ถึงห้าม เมื่อรู้เหตุผลเด็กก็จะไม่เอามือถือมาโรงเรียน แต่ถ้าด้วยเหตุผลว่าเพราะครูสั่งห้ามอย่างนี้ก็อาจมีคนอยากลองของ เพราะรู้สึกว่าไม่มีเหตุผล
ผมเชื่อว่าเด็กฉลาดทุกคน ไม่มีใครโง่หรอก เพียงแต่ว่าเขาจะถูกดึงศักยภาพออกมาหรือไม่เท่านั้น สำหรับครูเองก็ต้องพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ครูต้องมีวิธีการสอนที่ดึงดูดความสนใจของเด็ก ความรู้ของครูถือเป็นสิ่งสำคัญ แต่ความตั้งใจของครูและวิธีการนำเสนอของครูถือว่าสำคัญมาก ถ้าครูไม่มีคุณภาพแล้ว เด็กก็ลำบาก
นอกจากนี้สังคมเองก็ต้องช่วยส่งเสริมให้คนมีความคิดทางวิทยาศาสตร์ ต้องทำให้สังคมของเราเป็นสังคมแห่งการใช้เหตุใช้ผล มากกว่าไสยศาสตร์หรือใช้ความเชื่อส่วนตัวเป็นเกณฑ์ ต้องมีหนังสือที่ดีออกมาให้คนอ่าน มีรายการโทรทัศน์ที่สร้างสรรค์ เราต้องสร้างเงื่อนไขล้อมรอบให้หมดเลย
ผมมองว่าสื่อไม่ควรเพียงแค่ตอบสนองอย่างเดียว แต่ต้องชี้นำ ต้องเตือนสติคนด้วยว่าสิ่งไหนไม่ถูกต้อง หนังสือพิมพ์ควรเลิกเอารูปเกี่ยวกับการเล่นหวยมาลง เลิกเอารูปที่เต็มไปด้วยเลือดมาลง เราต้องช่วยกัน เพราะภาพอย่างนี้ไม่ช่วยทำให้เราเป็นวิทยาศาสตร์ แต่จะกลายเป็นคนที่นิยมความรุนแรง นิยมความไม่มีเหตุผล
รายการโทรทัศน์ก็ต้องไม่เอาเรื่องงมงายมาออกอากาศ ต้องตัดเรื่องพวกนี้ให้น้อยลง ให้เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น อย่างรายการของช่อง 9 เช่น "ฉลาดสุดสุด" หรือ Mega Clever ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสนับสนุน รายการ "คนค้นฅน" "กบนอกกะลา" ฯลฯ ล้วนเป็นรายการโทรทัศน์ที่ดีและประเทืองปัญญา เป็นการนำเสนอความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลสอดคล้องกัน ไม่ใช่เปิดโทรทัศน์แล้วก็เจอแต่ละครกับมิวสิควิดีโอ สังคมไทยอาจจะเปลี่ยนชั่วข้ามคืนไม่ได้ แต่ก็ควรมีทางเลือกให้แก่ประชาชน
นอกจากนี้แล้วภาครัฐยังเป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญที่จะช่วยทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้น ภาครัฐควรสนับสนุน "ความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์" ให้เป็น "วาระแห่งชาติ" โดยเริ่มต้นที่การสร้างศรัทธาให้คนในสังคมเห็นก่อนว่า ความคิดแบบนี้คือสิ่งที่มีประโยชน์ต่อชาติ ถ้าพ่อแม่ศรัทธา ครูศรัทธา โรงเรียนศรัทธาว่าเราต้องช่วยกันแก้ปัญหากันที่ตรงนี้ คือเราต้องมีความคิดเป็นวิทยาศาสตร์ รวมทั้งการบันทึกบอกเล่าก็จะทำให้การเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น ทำให้คนอยากรู้อยากเห็น และรู้ว่าความอยากรู้อยากเห็นนั้นจะทำให้ตัวเองก้าวหน้า
ผมมองโลกในแง่ดีว่า เราสามารถเปลี่ยนคนได้ภายในชั่วคนรุ่นเดียว เพราะคนรุ่นหนึ่งห่างกันแค่ 20 ปีเท่านั้น ดังนั้น ถ้าภายใน 20 ปี คนรุ่นนี้พร้อมใจกันเปลี่ยนแปลง ผมมั่นใจว่าเราทำได้ ผมไม่เชื่อว่าฝรั่ง ญี่ปุ่น หรือเกาหลี จะวิเศษมากมาย เมื่อก่อนสังคมของเขาก็เป็นอย่างนี้ แต่เพราะว่าประเทศของเขามีความพยายาม มีความมุ่งมั่นในระดับชาติ เขาจึงพัฒนามาถึงขั้นนี้ได้
ผมคิดว่าการคิดแบบวิทยาศาสตร์ หรือการคิดที่มีเหตุผลรับกัน เป็นรากฐานที่สำคัญของสังคม และควรเป็นวาระแห่งชาติของคนไทย